คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8836/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจนถึงวันที่โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ประสบภัยนั้นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังเช่นปัจจุบัน โดยบทบัญญัติของมาตรา 31 ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุได้กำหนดเงื่อนไขในการที่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะความจงใจหรือประพฤติเลินเล่ออย่างร้ายแรงเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ผู้ประสบภัยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นทันท่วงที โดยไม่จำต้องพิสูจน์ความผิดหรือมีข้อโต้แย้งใดจากบริษัทผู้รับประกันภัยดังนั้น แม้ภายหลังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ(ฉบับที่ 3)ฯ มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยความใหม่มีบทบัญญัติให้บริษัทผู้รับประกันภัยที่ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น หรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับหลังจากเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์จึงไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน พ – 6115 นครราชสีมา จากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อายุสัญญาประกันภัย1 ปี มีผลคุ้มครองนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม2540 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว โดยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้จ้างวานใช้และยินยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและขับรถคันดังกล่าวไปประกอบหน้าที่การงานในทางการที่จ้างหรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2539 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้ควบคุมและขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 มาตามถนนเจนจบทิศจากจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้าไปทางจังหวัดศรีสะเกษด้วยความประมาทเลินเล่อขณะแล่นมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้แล่นเข้าชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2495 ศรีสะเกษ แล้วเสียหลักออกไปทางขวาเฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 2284 ยโสธร ซึ่งแล่นสวนทางมาทำให้บุคคลซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้คือนายประพฤทธิ์ ตรีนอก และนายดิเรก ทองทะวงศ์ ถึงแก่ความตาย เด็กหญิงอัจฉรา ทองทะวงศ์และนายยงยุทธ โนนไธสง ได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอประทายได้ทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อศาล เมื่อบุคคลทั้งสี่ถึงแก่ความตายจึงเป็นผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้อยู่ในอายุสัญญาประกันภัยของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยทั้งสี่โดยจ่ายให้แก่ทายาทของบุคคลดังกล่าวตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 200,000 บาท ภายหลังโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ อันเป็นการผิดเงื่อนไขกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์จึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัยในนามของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์จ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยไปแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องชดใช้เงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิตามกฎหมายจากทายาทของผู้ประสบภัยมาเรียกร้องเงินจำนวน 200,000 บาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิดและจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวการหรือนายจ้างและยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเกิดเหตุ โจทก์ได้ติดต่อทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าว คืนแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 9,708 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 209,708 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป ของต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป และของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับฟังได้ยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน พ – 6115 นครราชสีมาซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อายุสัญญาประกันภัย 1ปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2539 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์คันอื่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย คือนายประพฤทธิ์ ตรีนอก นายดิเรก ทอทะวงศ์ เด็กหญิงอัจฉรา ทองทะวงศ์ และนายยงยุทธ โนนไธสง โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยรายละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000บาท โดยจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายเบื้องต้นรวม 40,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทของผู้ประสบภัยอีกรวม 160,000 บาทหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจนถึงวันที่โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ประสบภัยนั้นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31 ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังเช่นปัจจุบัน โดยบทบัญญัติของมาตรา 31 ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุได้กำหนดเงื่อนไขในการที่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะความจงใจหรือประพฤติเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้ว่า “…เมื่อบริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แล้วแต่กรณี มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าว…” ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 2 เฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ผู้ประสบภัยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นทันท่วงที โดยไม่จำต้องพิสูจน์ความผิดหรือมีข้อโต้แย้งใดจากบริษัทผู้รับประกันภัย ดังนั้น แม้ภายหลังจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยความใหม่มีบทบัญญัติให้บริษัทผู้รับประกันภัยที่ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุคดีนี้โจทก์จึงไม่สามารถใช้ไล่เบี้ยเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายใหม่ได้ ทั้งมิใช่เป็นการจ่ายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 16 ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์จ่ายไปโดยผู้ทำละเมิดไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์และผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในค่าสินไหมทดแทนรายละ40,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share