คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าบัตรภาษีตามฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรจริงเพราะเหตุใด ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าพิพาทจริงจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชย 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ขอให้คืนเงินชดเชย 1,779,673.94 บาท ครั้งที่สองวันที่ 14 สิงหาคม 2547 ขอให้คืนเงินชดเชยเพิ่มเติม 307,017.61 บาท ซึ่งเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยคนละจำนวนกันและตามหนังสือทวงถามดังกล่าวไม่อาจทราบได้ว่าฉบับใดเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษีในคดีนี้ ตามหนังสือทวงถามทั้งสองฉบับระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือ แต่ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ 19 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะให้ระยะเวลาชำระหนี้เพียงใด นับได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องถือว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการทวงถามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 4 กันยายน 2547 และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาตามฟ้องแล้ว ดังนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่องละเมิดหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกประเด็นดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 96,880.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันรับบัตรจนถึงวันฟ้องจำนวน 71,255.18 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 168,135.94 บาท ให้แก่โจทก์และให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 96,880.76 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 96,880.76 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันรับบัตรภาษีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2548) ต้องไม่เกิน 71,255.18 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออกพิพาทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ทำนองว่า จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าบัตรภาษีตามฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบและออกบัตรภาษีรวมทั้งตรวจสอบสินค้าที่ส่งออกเมื่อเกิดความผิดพลาดก็เป็นเพราะความบกพร่องและความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เอง จากคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งออกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกพิพาทจริงเพราะเหตุใด เป็นเพียงให้เหตุผลว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตใจว่ามีการส่งออกจริงเท่านั้น กรณีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกรายพิพาทจริงหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท หรือไม่ ข้อนี้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีเป็นข้อความที่โจทก์บังคับให้ผู้รับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต้องกระทำตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของโจทก์จึงขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าว จำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่า ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาท หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยก่อนที่จะรับโอนบัตรภาษีพิพาทไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องคืนบัตรภาษีหรือใช้เงินคืนตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก เมื่อจำเลยที่ 2 ได้นำบัตรภาษีรายพิพาทไปใช้ชำระภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีหรือชำระเงินตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 2 จำต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง นายสุเมต พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษี ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชย 2 ครั้ง ครั้งแรกขอให้คืนเงินชดเชย 1,779,673.94 บาท ครั้งที่สองขอให้คืนเงินชดเชยเพิ่มเติม 307,017.61 บาท ซึ่งเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยคนละจำนวนกัน และตามหนังสือทวงถามดังกล่าวไม่อาจทราบได้ว่าฉบับใดเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษีในคดีนี้ และตามหนังสือทวงถามทั้งสองฉบับระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือ แต่ตามใบตอบรับในประเทศ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะให้ระยะเวลาชำระหนี้กี่วันแน่ นับได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ต้องถือว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการทวงถามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 จึงครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 3 กันยายน 2547 เมื่อครบกำหนดเวลานี้แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันถัดไปคือวันที่ 4 กันยายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาตามฟ้องแล้ว ดังนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่องละเมิดหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกประเด็นดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2547 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share