แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97ฯ และฉบับที่ 135ฯ ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทเอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไป และระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทเอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และไม่อาจลงโทษจำเลยกับมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ จำเลยคงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57, 91 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้ต่อมามี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 6)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 43 ทวิ และมาตรา 157 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4)ฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน และมี พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8)ฯ มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 127 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่ 4)ฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย แต่ก่อนการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยและให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทหนัก มีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทผู้เสพ การเสพเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้จิตและประสาทของผู้เสพผิดปกติจนขาดความยั้งคิด ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อย่างเต็มที่ การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกไปตามถนนสาธารณะ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ทุกขณะ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) และฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้วซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไป และระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และไม่อาจลงโทษจำเลยกับมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ต่อมามีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 43 ทวิ และมาตรา 157 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย แต่ก่อนการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยและให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อีกทั้งโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง และให้ยกคำขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3