คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีต้องพิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่จากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยทั้งสองจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ทำหนังสือชื่อผลไม้พิพาทจนเป็นเหตุให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างสร้างสรรค์งาน ลิขสิทธิ์จึงเป็นของลูกจ้าง โดยจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยสถานภาพของโจทก์ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มได้ โจทก์จึงไม่อาจสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นนิติบุคคลไม่สามารถสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ด้วยตนเองได้หรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท และมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่โจทก์ก็มีผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลและมาตรา 67 บัญญัติว่านิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจึงเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานด้วยตนเองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 ด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้ความสามารถในฐานะสำนักพิมพ์สร้างสรรค์งานด้วยการทุ่มเทความรู้ วิจารณญาณ ฝีมือ แรงงาน โดยขั้นตอนถ่ายรูปผลไม้ต้องคัดสรรผลไม้ที่มีผลสมบูรณ์จากจังหวัดระยองและจันทบุรีมาทำความสะอาด จัดวางตำแหน่งผลไม้จากนั้นมีทีมงานช่างถ่ายภาพรูปลงในฟิล์มใหญ่แล้วนำภาพไปสแกนโดยระบบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับผลไม้ประกอบรูปผลไม้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการจัดทำหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 แล้วภาพถ่ายรูปผลไม้จึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่าย ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้เป็นงานวรรณกรรมประเภทสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาหรือออกแบบรูปผลไม้โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปสั่งการให้จำเลยที่ 2 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรูปภาพผลไม้จากหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
ภาพผลไม้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2545 ของปฏิทินที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงมาจากหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 จึงละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพถ่ายของโจทก์ ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้อันเป็นงานวรรณกรรมของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปฏิทินกับในหนังสือแล้วแตกต่างกัน จำเลยที่ 2 จึงมิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
โจทก์จัดทำหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 แล้วยังพิมพ์งานปฏิทินชุดผลไม้ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ การที่จำเลยที่ 2 นำไปดัดแปลงย่อมทำให้โจทก์ขาดรายได้ การที่จำเลยที่ 2 แจกจ่ายให้ลูกค้าแม้จะมิได้ขายก็ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์และมิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวกับไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีอื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคสอง ทั้งยังขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 27 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยนางนิดดา หงษ์วิวัฒน์ เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสำนักพิมพ์หนังสือจำหน่าย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสตีเฟ่น ฟิลิป โอลด์พิลด์ ลงลายมือชื่อประทับตราของบริษัทกระทำการแทนบริษัท จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางดวงวิภา ถาวรธัญสิน ลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญกระทำการแทนบริษัท เมื่อประมาณต้นปี 2544 โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลไม้ซึ่งบรรยายเป็นรูปภาพและตัวอักษรถึงลักษณะของผลไม้ออกจำหน่ายแพร่หลายต่อสาธารณชน ซึ่งมีภาพและคำบรรยายประกอบภาพเกี่ยวกับผลไม้ชื่อ มะขามหวาน ลองกอง น้อยหน่า ลิ้นจี่ ละมุด มังคุด เงาะ ทุเรียน ลำไย และ ส้ม โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพและคำบรรยายภาพดังกล่าว เมื่อประมาณต้นปี 2545 จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ โดยได้ทำซ้ำดัดแปลงภาพและคำบรรยายภาพลักษณะผลไม้ในหนังสือของโจทก์ดังกล่าวทำเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะภาพและคำบรรยายประกอบภาพเกี่ยวกับผลไม้ชื่อ มะขามหวาน ลองกอง น้อยหน่า ลิ้นจี่ ละมุด มังคุด เงาะ ทุเรียน ลำไย (ที่ถูก และส้ม) ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำละเมิดและชดใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองระงับการละเมิดลิขสิทธิ์และเก็บสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า งานของโจทก์มีลักษณะรูปผลไม้ทั่วไปไม่มีลักษณะพิเศษอันจะถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำซ้ำดัดแปลงงานลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2544 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายยาต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีความประสงค์จะเตรียมจัดทำปฏิทินตั้งโต๊ะประจำปี 2545 ไว้แจกฟรีให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ โดยมีความคิดที่จะทำปฏิทินในรูปแบบของการส่งเสริมและสนับสนุนผลไม้ไทย จึงว่าจ้างจำเลยที่ 2 จัดทำโดยมีจำนวนจำกัดในราคาค่าจ้าง 250,000 บาทและตกลงในสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ออกแบบหรือจัดหารูปแบบของผลไม้มาเอง จำเลยที่ 2 รับว่าจะไม่ไปทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จำเลยที่ 1 ไม่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่ารูปผลไม้ในปฏิทินตั้งโต๊ะดังกล่าวกระทำขึ้นโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาท สูงเกินไป เป็นค่าเสียหายที่เรียกร้องโดยไม่มีมูลฐานในการคิดคำนวณ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยสถานภาพไม่อาจสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าได้ลิขสิทธิ์ในงานพิพาทอย่างไร สมุดภาพและข้อมูลเสริมการเรียนการสอนมิได้ปรากฏนามของโจทก์ที่สามารถสันนิษฐานได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รูปภาพผลไม้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์เพราะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มิได้มีการใช้ความริเริ่มหรือวิริยะอุตสาหะ เป็นเพียงการลอกเลียนแบบธรรมชาติและบางภาพไม่เหมือนงานปฏิทินของจำเลยที่ 2 ส่วนคำบรรยายประกอบภาพเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดจากความริเริ่มหรือวิริยะอุตสาหะ จำเลยที่ 2 ไม่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าภาพผลไม้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจัดทำปฏิทินเพื่อแจกเป็นของสมนาคุณแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่คิดมูลค่า ไม่ได้ทำเพื่อจำหน่ายมีไว้ขาย เผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือแจกจ่ายเพื่อหาประโยชน์ ปฏิทินดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายหรือผลประโยชน์ทางการค้าของโจทก์ เนื่องจากได้ทำขึ้นโดยมิได้แสวงหากำไรหรือการค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประเด็นแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์นายจ้างให้ลูกจ้างสร้างสรรค์งาน ลิขสิทธิ์จึงเป็นของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 9 นั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นนอกเหนือจากคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีต้องพิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่จากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยทั้งสองจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ทำหนังสือชื่อผลไม้พิพาทจนเป็นเหตุให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำให้การจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างสร้างสรรค์งาน ลิขสิทธิ์จึงเป็นของลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยสถานภาพของโจทก์ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มได้ โจทก์จึงไม่อาจสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทจากคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งสองจึงมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นนิติบุคคลไม่สามารถสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ด้วยตนเองได้หรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทมิชอบด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพียงพอ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องให้ตรงตามประเด็นข้อพิพาท รวมตลอดถึงประเด็นเรื่องการละเมิดและค่าเสียหายโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย
ประเด็นแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานหนังสือชื่อผลไม้พิพาท จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยสถานภาพของโจทก์ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล แต่โจทก์ก็มีผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล และมาตรา 67 บัญญัติว่านิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจึงเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานหนังสือชื่อผลไม้พิพาท เป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานด้วยตนเองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองให้การว่างานของโจทก์มีลักษณะเป็นรูปผลไม้ทั่วไปที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่มีลักษณะพิเศษอันจะถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 ด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้ความสามารถในฐานะสำนักพิมพ์สร้างสรรค์งานด้วยการทุ่มเทความรู้ วิจารณญาณ ฝีมือ แรงงาน ดังปรากฏจากคำเบิกความนางสาวรุ่งฤดี พานิชศรี พยานโจทก์ว่า ขั้นตอนถ่ายรูปผลไม้ต้องคัดสรรผลไม้ที่มีผิวผลสมบูรณ์จากจังหวัดระยองและจันทบุรีมาทำความสะอาด จัดวางตำแหน่งผลไม้จากนั้นมีทีมงานช่างภาพถ่ายรูปลงในฟิล์มใหญ่แล้วนำภาพไปสแกนโดยระบบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับผลไม้ประกอบรูปผลไม้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการจัดทำหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 แล้ว ภาพถ่ายรูปผลไม้จึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่าย ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้เป็นงานวรรณกรรม ประเภทสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยการกระทำของจำเลยแต่ละคนแยกต่างหากจากกันดังนี้
สำหรับจำเลยที่ 1 ปรากฏจากคำเบิกความนางจิรนันท์ ทับเนียม พยานโจทก์เพียงว่า จำเลยทั้งสองทำซ้ำภาพผลไม้จากหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 เอกสารหมาย จ.4 และดัดแปลงทำเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะโดยปฏิทินระบุชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 และระบุว่าจัดทำโดยจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายธีระ ธัชยะพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 จัดทำปฏิทินตั้งโต๊ะโดยตกลงให้จำเลยที่ 2 ออกแบบเองโดยจำเลยที่ 2 รับว่า การจัดหารูปแบบผลไม้จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก เห็นว่า ตามสัญญาจ้างทำของเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 5 ระบุความรับผิดของผู้รับจ้างสอดคล้องกับคำเบิกความของนายธีระไว้ว่า หากปรากฏว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ขึ้นผู้รับจ้างยินยอมที่จะรับผิดชอบในความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นในทุกกรณี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาหรือออกแบบรูปผลไม้โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปสั่งการให้จำเลยที่ 2 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรูปภาพผลไม้จากหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 2 ดังปรากฏตามที่วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างและเป็นผู้ออกแบบรูปผลไม้ในปฏิทินพิพาท นางจิรนันท์ ทับเนียม พยานโจทก์เบิกความว่า รูปผลไม้ในปฏิทินที่ซ้ำซ้อนกับหนังสือของโจทก์มีมะขาม ลองกอง น้อยหน่า ลิ้นจี่ ละมุด มังคุด เงาะ ทุเรียน ลำไย และส้ม เมื่อพิจารณารูปภาพผลไม้ดังกล่าวทั้งสิบภาพของปฏิทินเรียงตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2545 แล้ว จะเห็นได้ว่า ภาพเล็กในช่องซ้ายของปฏิทินส่วนใหญ่จะทำซ้ำจากหนังสือโจทก์ ส่วนภาพใหญ่ในปฏิทินส่วนใหญ่จะเป็นการดัดแปลงจากภาพผลไม้จากหนังสือโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าภาพผลไม้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2545 ของปฏิทินเอกสารหมาย จ.5 ทำซ้ำและดัดแปลงมาจากหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 จึงละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพถ่ายของโจทก์ ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้อันเป็นงานวรรณกรรมของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปฏิทินกับในหนังสือแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน จำเลยที่ 2 จึงมิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ว่าจ้างนายต้อม (ไม่ปรากฏชื่อสกุล) ผู้รับจ้างอิสระทำแบบรูปผลไม้ในปฏิทินเนื่องจากเป็นช่วงปลายปีนั้น จำเลยที่ 2 ก็มิได้นำนายต้อมมาเบิกความสนับสนุน คงมีแต่คำเบิกความนางสาวดวงวิภา ถาวรสัญสิน กรรมการจำเลยที่ 2 ซึ่งเบิกความลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือและที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ทำปฏิทินไปแจกให้ลูกค้าโดยไม่คิดมูลค่า มิได้เอาไปขายอันเป็นการต่อสู้ในทำนองว่า มิใช่การแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (3) และเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า เนื่องจากนอกจากโจทก์จะจัดทำหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 แล้วยังพิมพ์งานปฏิทินชุดผลไม้ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ การที่จำเลยที่ 2 นำไปดัดแปลงย่อมทำให้โจทก์ขาดรายได้ ปรากฏตามคำเบิกความนางจิรนันท์ตอบทนายโจทก์ การแจกจ่ายให้ลูกค้าแม้จะมิได้ขายก็ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์และมิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวกับไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีอื่นในวรรคสองของมาตรา 32 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ทั้งยังขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 32 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
ประเด็นที่สาม ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใด ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้นำภาพผลไม้จากหนังสือของโจทก์จำนวน 10 ภาพ มาทำซ้ำและดัดแปลงเป็นปฏิทินจำนวน 7,000 ฉบับ นางจิรนันท์พยานโจทก์เบิกความว่า ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจทำให้โจทก์ขาดรายได้จากรับงานจัดพิมพ์งานปฏิทิน และการทำซ้ำภาพผลไม้ทำให้คุณภาพและมาตรฐานของงานลิขสิทธิ์โจทก์เสียไป และเป็นอุปสรรคต่อการขายหนังสือชื่อผลไม้ของโจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงขบวนการผลิตหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 ของโจทก์ซึ่งเป็นการจัดทำอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานประกอบกับค่าขาดรายได้จากการที่โจทก์จะได้พิมพ์งานปฏิทินหรือค่าสิทธิที่ควรจะได้จากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพของโจทก์ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณภาพในงานของโจทก์แล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายจากจำนวนภาพที่ทำซ้ำและดัดแปลงจากหนังสือของโจทก์จำนวน 10 ภาพ เป็นเงินภาพละ 20,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 200,000 บาท ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 เก็บปฏิทินที่ละเมิดลิขสิทธิ์คืนนั้น เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้อง (วันที่ 6 มกราคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share