คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร มาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515
คำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ได้ให้ความหมายของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM) ไว้ว่า “เครื่องจักรซึ่งลูกค้าสามารถฝาก ถอน และโอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชี โดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง” เมื่อเครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine : ADM” (ที่โจทก์นำเข้ามีคุณสมบัติเฉพาะการรับฝากเงินเท่านั้น มิได้มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ เครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine : ADM” จึงไม่อาจถือเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM) ที่จะได้รับการยกเว้นอากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินอากรของจำเลย ตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ที่ กค 0504(2)/9-201688/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01687/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01685/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01693/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01694/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01702/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01699/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01698/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01692/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01691/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01696/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01695/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01686/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 (ที่ถูกเป็นฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547) ที่ กค 0504(2)/9-2-01701/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01700/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01697/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ กอ.5/2547/ป4 (3.2) ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 24,884,341.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,586,278 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนการชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ที่ กค 0504(2)/9-2-01687 ฉบับลงวันที่ 27เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01702 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01699 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เฉพาะเครื่องบริการถอนเงินอัตโนมัติจำนวน 3,708,845.44 บาท ที่ กค 0504(2)/9-2-01696 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01695 ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01700 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 จำเลยไม่คัดค้าน ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าดังกล่าว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ที่ กค 0504(2)/9-2-01688/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01685/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01693/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01694/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01698/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เฉพาะเครื่องบริการเงินฝากอัตโนมัติเป็นเงิน 318,748.56 บาท ที่ กค 0504(2)/9-2-01692/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01691/04/47 ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2547ที่ กค 0504(2)/9-2-01686/27/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 (ที่ถูกเป็นฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2547) ที่ กค 0504(2)/9-2-01701/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ กค 0504(2)/9-2-01697/30/04/47 ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ กค 5/2547/ป 4 (3.2) ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ให้จำเลยคืนอากรขาเข้าเป็นเงิน 15,952,896 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของต้นเงิน 3,832,401 บาท นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2546 ของต้นเงิน 301,691 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 ของต้นเงิน 569,791 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 ของต้นเงิน 854,231 บาท นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2546 ของต้นเงิน 106,084 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2546 ของต้นเงิน 3,831,649 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 ของต้นเงิน 833,856 บาท นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2546 ของต้นเงิน 1,318,974 บาท นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ของต้นเงิน 3,844,982 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2546 ของต้นเงิน 140,489 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2546 ของต้นเงิน 318,748 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2546 โดยไม่คิดทบต้น เศษของเดือนนับเป็นหนึ่งเดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine) เป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) ตามพิกัด 8472.90 และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) หรือไม่ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ของที่นำเข้ามาในหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดนี้” และมาตรา 14 บัญญัติว่า “เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศลดอัตราอากรจากอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรหรือยกเว้นอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ร่วมลงนามหรือระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใดๆ ไว้ด้วยก็ได้” การตีความว่าของดังกล่าวหมายถึงอะไรจึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2493 และประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 ปรากฏว่าคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรและคำแปลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 176 ถึง 180 ได้ให้ความหมายของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) ไว้ว่า “เครื่องจักรซึ่งลูกค้าสามารถฝาก ถอนและโอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชี โดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง” ตามคำอธิบายนี้ เครื่องจักรที่จะถือเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) จะต้องเป็นเครื่องจักรที่สามารถรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้ทั้งสี่ประการ เมื่อเครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine) ที่โจทก์นำเข้ามีคุณสมบัติเฉพาะการรับฝากเงินเท่านั้น มิได้มีคุณสมบัติครบทั้งสี่ประการ เครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine) จึงไม่อาจถือเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) ที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 แต่อย่างใด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินอากรดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share