คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้เสมอ
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าทรัพย์สินของจำเลย ที่ 1 ที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้มีราคาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากว่าสิบเท่าเศษ โจทก์นำยึดทรัพย์สิน ของจำเลยที่ 1 มากเกินความจำเป็นจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีอำนาจ ร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคแรก
โจทก์นำยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี ซึ่งมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 284 วรรคสอง ชดใช้ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย หรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๓๗๖,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๓๖๔,๘๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (๔ มิถุนายน ๒๕๒๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์คือ ๑.ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๓ ตำบลสีลม (สาธร) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวา ราคาประมาณตารางวาละ ๑๕,๐๐๐ บาท ทั้งแปลงเป็นเงิน ๒,๑๓๐,๐๐๐ บาท ๒.ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๒ ตำบลสีลม(สาธร) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวา ราคาประมาณตารางวาละ ๑๕,๐๐๐ บาท ทั้งแปลงเป็นเงิน ๒,๑๓๐,๐๐๐ บาท ๓.อาคารตึก ๕ ชั้นขนาด ๑๕x๒๕ เมตร เลขที่ ๓๙๙/๑ ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๒ ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๔. เรือนแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น ขนาด ๖x๒๕ เมตร ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท รวม ๔ รายการเป็นเงิน ๔,๗๘๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดมีมูลค่ามากกว่าที่โจทก์ประเมินไว้มากและเกินกว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาถึงสิบกว่าเท่า เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ ๑ ให้เสียหายและไม่ชอบ การยึดทรัพย์ของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้มีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมดของจำเลยที่ ๑ เสียโดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดแทนจำเลยที่ ๑ และให้เพิกถอนคำบังคับของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า แม้โจทก์จะได้กระทำต่อจำเลยที่ ๑ ดังที่จำเลยที่ ๑อ้างก็ตาม แต่จำเลยหามีสิทธิที่จะร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการบังคับคดี เพราะกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น มิได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๕ จำเลยมีสิทธิแต่เพียงนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีเรื่องหนึ่งต่างหาก ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า โจทก์ยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา ควรยึดทรัพย์ตามรายการที่ ๑ กับที่ ๔ ส่วนทรัพย์สินตามรายการที่ ๒ และที่ ๓ ควรถอนการยึด การที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าหนี้ที่จำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องรับผิด เมื่อมีการถอนการยึดจึงถือได้ว่าการยึดทรัพย์สินของโจทก์กระทำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ข้อ ๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในอัตราร้อยละ ๓ ครึ่งของราคาที่ยึดคือ ๑๙,๒๖๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๖๗๔,๐๐๐ บาท จึงมีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๒ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และอาคารตึก ๕ ชั้น เลขที่ ๓๙๙/๑ ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวโดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดแล้วไม่มีการขายเป็นเงิน ๖๗๔,๑๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินทียึดตารางวาละ ๑๕,๐๐๐ บาท กับทรัพย์สินที่ยึดอื่นอีกรวม ๔ รายการเป็นเงิน ๔,๗๘๐,๐๐๐ บาทเป็นการสมควรแล้ว และควรให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดจากราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดเป็นเงิน ๙๒,๐๕๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าโจทก์ได้ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคันหมายเลขทะเบียน ฉ.ข.๐๑๔๕๗ มาจากจำเลยที่ ๒ และได้ขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท จึงไม่มีสิทธิมายึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ได้อีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ ๑ ยังไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ มาขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้เสมอ เรื่องที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปขายนั้น ไม่เกี่ยวกับการบังคับคดีนี้
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก ความว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น คดีนี้ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้มีราคาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากว่าสิบเท่าเศษ โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ มากเกินความจำเป็น ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงย่อมมีอำนาจร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ แต่พอสมควรได้ตามตัวบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น
ในปัญหาที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เกินกว่าจำนวนหนี้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๓ และเรือนแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น ติดจำนองธนาคารไทยทนุ จำกัด ซึ่งมีหนี้จำนองรวมเป็นเงิน ๒,๔๓๗,๒๐๔ บาท ๓๒ สตางค์ เมื่อคิดหักหนี้จำนองออก ทรัพย์สินทั้งสองรายการนี้จึงมีราคาไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ จึงเห็นสมควรให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๙๐๒ เนื้อที่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวาและอาคารตึก ๕ ชั้น เลขที่ ๓๙๙/๑ ซึ่งมีราคาเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๐๓ และเรือนแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น สมควรถอนการยึด
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าธรรมเนียมถอนการยึดโจทก์ไม่ควรต้องรับผิดนั้น เมื่อปรากฏว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี ซึ่งมิได้กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เจ้าหนี้คือโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๔ วรรคสองจึงต้องรับผิดใช้ค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเป็นเงิน ๗๕,๒๕๐ บาท

Share