คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 8 ปี แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่เป็นการแก้ไขบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อ 2.2 กับข้อ 2.8 ว่า หากจ่าสิบตำรวจ ส. เห็นเหตุการณ์ขณะที่สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด จากจำเลยจริง เหตุใดจึงไม่แสดงตัวและเข้าจับกุมเอง เป็นการผิดวิสัยของเจ้าหน้าที่ทั่วไป จึงไม่ควรแก่การเชื่อถือ และข้อ 2.5 ว่า พยานโจทก์เบิกความธนบัตรจริงจำนวน 2,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อได้คืนให้แก่เจ้าของไปแล้วจะเป็นจริงตามคำเบิกความนี้หรือไม่ ไม่มีผู้ใดทราบ การรับฟังพยานบุคคลควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง แต่กฎหมายระบุให้ศาลรับฟังเฉพาะต้นฉบับเท่านั้น จึงยังมีเหตุที่น่าระแวงสงสัยนั้น เป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ให้แก่สายลับโดยจำเลยไปนำมาจากในบ้าน ซึ่งร้อยตำรวจเอก ช. กับพวกซุ่มดูพฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในบ้านอันเป็นเคหสถาน เมื่อร้อยตำรวจเอก ช. ได้แสดงตัวโดยแสดงบัตรเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ แก่จำเลยแล้ว ร้อยตำรวจเอก ช. จึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านจำเลยเพื่อตรวจค้น รวมทั้งมีอำนาจจับกุมจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ มาตรา 14 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับของศาล
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสอบสวนต่างก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของตน ไม่มีเหตุผลใดที่กลั่นแกล้งจำเลยอันเป็นการเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนี้ เชื่อว่าจำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไปโดยไม่ได้ถูกขู่ดังจำเลยฎีกา ข้ออ้างของจำเลยเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การจับกุมและสอบสวนจำเลยชอบแล้ว
เมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด บรรจุถุงพลาสติกพันด้วยเทปถูกซุกซ่อนในเพดานห้องนอนจำเลย อันเป็นที่มิดชิดยากแก่การค้นพบ ยากแก่การที่บุคคลอื่นจะนำมาซุกซ่อนไว้โดยจำเลยไม่รู้เห็น หากบุตรจำเลยไม่ชี้บอก ร้อยตำรวจเอก ช. อาจตรวจหาไม่พบเพราะเพดานห้องนอนจำเลยสูง การเก็บและตรวจพบทำได้ยาก เมื่อฟังประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ในทันทีแล้ว กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ดจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการกระทรวงสาธารณสุข และคืนธนบัตรจำนวน 2,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการกระทรวงสาธารณสุข (ที่ถูก ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง) และให้คืนธนบัตรจำนวน 2,000 บาท ที่ใช่ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 8 ปี แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่เป็นการแก้ไขบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อ 2.2 กับข้อ 2.8 ว่า หากจ่าสิบตำรวจสุรศักดิ์ ชาญขุนทด เห็นเหตุการณ์ขณะที่สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด จากจำเลยจริงเหตุใดจึงไม่แสดงตัวและเข้าจับกุมเอง เป็นการผิดวิสัยของเจ้าหน้าที่ทั่วไป จึงไม่ควรแก่การเชื่อถือ และข้อ 2.5 ว่า พยานโจทก์เบิกความธนบัตรจริงจำนวน 2,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อได้คืนให้แก่เจ้าของไปแล้วจะเป็นจริงตามคำเบิกความนี้หรือไม่ ไม่มีผู้ใดทราบการรับฟังพยานบุคคลควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง แต่กฎหมายระบุให้ศาลรับฟังเฉพาะต้นฉบับเท่านั้น จึงยังมีเหตุที่น่าระแวงสงสัยนั้น เป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในสามข้อนี้มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในสามข้อนี้ให้ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฎีกาของจำเลยในข้อ 2.1 ว่า ในวันเกิดเหตุมีการวางแผนจับกุมจำเลยจะฟังว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าหาได้ไม่ และในข้อ 2.6 ที่ว่าการที่ร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 แม้จะได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานแล้วก็ตาม เมื่อไม่มีหมายค้นของศาลมาแสดงแก่จำเลยก็เป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ให้แก่สายลับโดยจำเลยไปนำมาจากในบ้านซึ่งร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์กับพวกซุ่มดูพฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในบ้านอันเป็นเคหสถาน เมื่อร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์ได้แสดงตัวโดยแสดงบัตรเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามเอกสารหมาย จ.5 แก่จำเลยแล้ว ร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์จึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านจำเลยเพื่อตรวจค้นรวมทั้งมีอำนาจจับกุมจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับของศาล
จำเลยฎีกาในข้อ 3 ความว่า คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะจำเลยถูกขู่ว่าหากไม่รับจะจับกุมสามีจำเลยด้วย การจับกุมและสอบสวนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสอบสวนต่างก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของตน ไม่มีเหตุผลใดที่กลั่นแกล้งจำเลย อันเป็นการเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนี้ เชื่อว่าจำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไปโดยไม่ได้ถูกขู่ดังจำเลยฎีกา ข้ออ้างของจำเลยเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การจับกุมและสอบสวนจำเลยชอบแล้ว
จำเลยฎีกาในข้อ 4 ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด ที่พบในเพดานห้องนอนจำเลยนั้นนางสะอาด วรรณภา พี่สาวจำเลยนำมาฝากไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จะฟังว่าเป็นของจำเลยไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด บรรจุถุงพลาสติกพันด้วยเทปถูกซุกซ่อนในเพดานห้อนนอนจำเลย อันเป็นที่มิดชิดยากแก่การค้นพบ ยากแก่การที่บุคคลอื่นจะนำมาซุกซ่อนไว้โดยจำเลยไม่รู้เห็น หากบุตรจำเลยไม่ชี้บอก ร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์อาจตรวจหาไม่พบเพราะเพดานห้องนอนจำเลยสูง การเก็บและการตรวจพบทำได้ยาก เมื่อฟังประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ในทันทีแล้ว กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ดจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share