คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องของผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการหัตถกรรม ผู้ประกอบการศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือที่จะเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงให้ขยายเป็นมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าของจำเลยอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยนั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 241,761.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,552.03 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 200,552.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 41,209.32 บาท ตามที่โจทก์ขอมา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นควรหยิบยกปัญหาตามฎีกาของจำเลยในประการที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยชำระค่าซื้อสินค้าเหล็กลวดในงวดตามฟ้องซึ่งปรากฏอยู่ในรายการลำดับที่ 23 ตามเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ในประการนี้จำเลยฎีกาอ้างว่าชำระแล้วเป็นเงินสดตามที่ได้จดแจ้งไว้ในเอกสารใบวางบิลหมาย ล.1 ฝ่ายโจทก์นำสืบว่ายังไม่ได้รับชำระเพราะไม่ปรากฏการชำระ ซึ่งตามทางปฏิบัติจะต้องชำระเป็นเช็คดังเช่นรายการอื่น ๆ ทั้งหมดกว่าร้อยรายการในเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่า แม้เอกสารหมาย จ.4 จะมิใช่หลักฐานแห่งมูลหนี้ หากเป็นเอกสารที่ฝ่ายบัญชีของโจทก์จัดทำขึ้นเพื่อสรุปรายการติดต่อสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์จำเลยตลอดทุกรายการโดยมิได้ให้จำเลยรับรองก่อนหน้าที่จะฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความตอบคำถามค้านของผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่รับว่ามีการติดต่อซื้อสินค้าจากโจทก์ประมาณ 100 ครั้ง และนางสาวสุรีพร กมลสุธีชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์เช่นกันว่า ในการสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าจากโจทก์มีเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และของธนาคารนครธนจำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย โดยมิได้ระบุธนาคารอื่นนอกจากนี้ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาตรงกับรายการที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าเอกสารหมาย จ.4 จัดทำขึ้นตรงตามที่เป็นจริง และการชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่โจทก์จะสั่งจ่ายเป็นเช็คทุกครั้งตามเหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันพนักงานของโจทก์ยักยอกหรือการสูญหาย กอปรกับนายวิชัยผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความตอบคำซักถามตรงกับที่พยานโจทก์นำสืบว่า ในการเรียกให้ชำระหนี้ โจทก์จะนำต้นฉบับใบวางบิลไปวางให้จำเลยในฐานะผู้ซื้อตรวจสอบเมื่อเห็นว่าถูกต้อง จำเลยจะลงชื่อในต้นฉบับใบวางบิลแล้วส่งคืนแก่โจทก์เพื่อนำมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยอีกครั้งภายใน 60 วัน ตามที่โจทก์ให้เครดิต ในใบวางบิลจึงมีข้อความให้ระบุวันที่นัดชำระ แต่ตามใบวางบิลเอกสารหมาย ล.1 ไม่ปรากฏระบุวันที่นัดชำระ ทั้งข้อความที่เขียนระบุมีการชำระแล้วก็ได้ความว่า นางสาวสุรีพรกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยเป็นผู้ลงไว้แทนที่จะเป็นพนักงานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงไม่น่าจะเป็นดังเช่นที่จำเลยอ้าง น้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์จึงน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฎีกาของจำเลยในประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาในประการต่อไปมีว่า หนี้ของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) บัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงให้ขยายเป็นมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยนั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) หาใช่ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่าในคดีนี้เป็นการซื้อมาเพื่อขายไปอีกต่อหนึ่งโดยมิได้มีการกระทำใด เช่น การดัดแปลงสินค้า จึงไม่ใช่กรณีเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ เพราะมิเช่นนั้นควรบัญญัติเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (5) ตอนท้าย ในกรณีผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกันเรียกเอาค่าขายสลากว่า เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อนั้น เห็นว่า ถ้อยคำตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าการซื้อมาเพื่อขายต่อไปแต่อย่างเดียว เพราะยังครอบคลุมถึงกรณีที่ลูกหนี้อาจต้องมีการกระทำใด เช่น การดัดแปลงสินค้าก่อนไปจำหน่ายอีกชั้นหนึ่งอันเป็นลักษณะของการประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องมิใช่การซื้อมาเพื่อบริโภคเอง กฎหมายจึงบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share