แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยยักยอกเงินของร้าน ท. ซึ่งเป็นของ ส. จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จะปรากฏต่อมาว่าร้าน ท. ไม่ใช่เป็นของ ส. แต่เป็นของ ต. แต่ ต. ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว ฉะนั้นประเด็นที่ว่าร้าน ท. เป็นของ ต. หรือ ส. จึงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยมิได้ยกขึ้นโต้แย้งตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินร้านเท้งพานิชของนายสุชัย พรวณิช ผู้เสียหาย ได้เก็บเงินค่าผ้าจากลูกค้ารวมเป็นเงิน 5,938,720 บาท ของผู้เสียหายไว้ในครอบครองแล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายเป็นของตนเองโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,938,720 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,938,720 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีนี้ได้มีการร้องทุกข์โดยชอบแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าตามฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยยักยอกเงินของร้านเท้งพานิชของนายสุชัย พรวณิช ผู้เสียหาย แต่ตามหลักฐานที่จำเลยตรวจพบภายหลังปรากฏว่าร้านเท้งพานิชเป็นของนายตี๋ แซ่ฉั่ว ฉะนั้น การที่นายสุชัยซึ่งไม่ใช่เจ้าของร้านเท้งพานิชไปร้องทุกข์ นายสุชัยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย การร้องทุกข์ของนายสุชัยจึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จำเลยก็ไม่มีความผิด เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยยักยอกเงินของร้านเท้งพานิชซึ่งเป็นของนายสุชัย พรวณิช จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จะปรากฏต่อมาว่าร้านเท้งพานิชไม่ใช่เป็นของนายสุชัยแต่เป็นของนายตี๋ แซ่ฉั่ว แต่ก็ปรากฏตามคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาเอกสารของนายตี๋ลงวันที่ 24 เมษายน 2545 ว่านายตี๋ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว ฉะนั้นประเด็นที่ว่า ร้านเท้งพานิชเป็นของนายตี๋หรือนายสุชัยจึงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นโต้แย้งตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า สมควรลดโทษหรือรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยซึ่งอาศัยความไว้วางใจของผู้เสียหายกลับฉวยโอกาสนี้ยักยอกเงินของผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก การชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวน 70,000 บาท เป็นเพียงจำนวนเล็กน้อย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บรรเทาผลร้ายแล้ว การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนและมีภาระจะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้ศาลฎีกาลดโทษหรือรอการลงโทษให้จำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน