คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมี ธ. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน โดย ธ. มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ทนายความฯ การที่ ธ. เรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 309, 310, 339 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 (ที่ถูก 310 วรรคแรก), 339 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธมีด จำคุก 12 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานข่มขืนใจโดยกำลังประทุษร้ายและโดยมีอาวุธเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนัก (ที่ถูก ต้องระบุตามมาตรา 309 วรรคสอง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่พิจารณาลดโทษให้แก่จำเลยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมีนางสาวธิดาพร ไตรวาสน์ ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน ซึ่งตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความ หรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อนางสาวธิดาพร ไตรวาสน์ มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่นางสาวธิดาพรเรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7) ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยเป็นผู้เรียบเรียงอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้วให้นางสาวธิดาพรเขียนแทน แต่นางสาวธิดาพรกลับลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์โดยสำคัญผิดมิได้เจตนาฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่ไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เรื่องลดโทษให้แก่จำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งในข้อดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ เป็นการต้องห้ามหรือไม่ต้องด้วยองค์ประกอบแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share