คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3337/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 264, 265, 268, 352, 353
สำนวนหลังศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 188 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมและใช้คำขอกู้เงินปลอมกับปลอมและใช้หนังสือกู้ปลอม อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 1 ปี ฐานปลอมและใช้บัญชีเงินกู้ปลอม อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 1 ปี ฐานทำลายเอกสาร จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 188, 86 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก 1 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสาร จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 1 ปี ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้คำขอกู้เงินปลอมกับปลอมและใช้หนังสือกู้เงินปลอมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีนายทวีกรรมการดำเนินการโจทก์ที่ 2 นางเจริญศรี โสระมัด ผู้จัดการโจทก์ที่ 2 และนายสงบ ปานเพ็ง ประจำสำนักงานสหกรณ์อำเภอขาณุวรลักษบุรีเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.9 ว่า จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำต่อพยานทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ปลอมบัญชีเงินกู้ของโจทก์ที่ 2 โดยกรอกข้อความว่า นายสนิท นายลำใย นายทวี และนายประจบซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์ที่ 2 กู้เงินจากโจทก์ที่ 2 จำนวน 17,000 บาท 16,000 บาท 17,000 บาท และ 15,000 บาท ซึ่งเกินกว่าความเป็นจริงคนละ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 2 ปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินรายนายเชื่อมสมาชิกโจทก์ที่ 2 เพื่อขอกู้เงินจำนวน 40,000 บาท จากโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือที่อ้างว่าเป็นของนายเชื่อม ทั้งที่รู้ว่านายเชื่อมถึงแก่ความตายไปแล้ว มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้โจทก์ที่ 2 คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วอนุมัติให้กู้ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองให้การรับต่อพยานทั้งสามของโจทก์ทั้งสองว่าได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เป็นผลร้ายต่อจำเลยทั้งสอง จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การตามความจริง เมื่อพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แล้ว มีลักษณะคล้ายลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสำนวนคดีนี้ เชื่อว่าลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เป็นของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความโดยไม่ได้อ่านข้อความนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่านายเชื่อมมีภูมิลำเนาในเขตท้องที่รับผิดชอบของนายลำพอง ซึ่งเป็นทำนองว่านายลำพองอาจเป็นผู้ปลอมเอกสารคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินของนายเชื่อมก็ได้นั้น เห็นว่า เอกสารคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินของนายเชื่อมดังกล่าวมีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองโดยไม่ปรากฏว่านายลำพองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวเลย จึงไม่มีเหตุให้สงสัยว่านายลำพองปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ที่ 1 นำส่งศาลเพียงสำเนาคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน โดยไม่ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลจึงไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า สำเนาเอกสารที่ส่งต่อศาลนั้น พนักงานสอบสวนได้รับรองสำเนาถูกต้องโดยไม่ปรากฏว่าสำเนานั้นไม่ตรงกับต้นฉบับ อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเกี่ยวกับบัญชีเงินกู้รายนายสนิทกับพวก จำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมกับปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมรายนายเชื่อม ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 ปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินรายนายเชื่อมหรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของนางเจริญศรีว่า เมื่อสมาชิกโจทก์ที่ 2 ขอกู้เงิน พนักงานสินเชื่อจะสอบถามสมาชิกแล้วกรอกข้อความในคำขอกู้ให้สมาชิกที่ขอกู้ ลงลายมือชื่อในคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน จากนั้นเสนอต่อผู้จัดการตรวจสอบ เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ผู้จัดการจะลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวส่งคืนให้แก่พนักงานสินเชื่อเพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินกู้โจทก์ที่ 2 ต่อไป จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำขอกู้และหนังสือกู้เงินดังกล่าวไปในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์แทนผู้จัดการโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่านายเชื่อมถึงแก่ความตายแล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีในศาลว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมปลอมคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน และไม่ได้ใช้คำขอกู้และหนังสือกู้เงินปลอม จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสองตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 สั่งให้นางบังอรเผาทำลายบัญชีเงินกู้ของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ และจะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใด โจทก์มีนายทวีเบิกความว่า พยานเรียกนางบังอรนักการภารโรงโจทก์ที่ 2 มาให้ถ้อยคำได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้นางบังอรนำบัญชีเงินกู้ที่แท้จริงไปเผาไฟทิ้ง โดยมีนางบังอรเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินกู้ที่ไม่ตรงต่อความจริงตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.14 แผ่นที่ 1 ถึง 4 ให้พยานนำไปสับเปลี่ยนกับบัญชีเงินกู้ที่แท้จริงตามเอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 1 ถึง 4 แล้วพยานนำบัญชีเงินกู้ที่แท้จริงไปเผาไฟทำลายตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคำให้การที่เป็นผลร้ายต่อตนเองโดยไม่มีเหตุที่จะเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 เชื่อว่า นางบังอรเบิกความตามความสัตย์จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งให้นางบังอรเผาทำลายบัญชีเงินกู้ ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้กระทำผิดเองหรือผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของผู้อื่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้นางบังอรเป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่นางบังอรในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่นางบังอรต้องเผาบัญชีเงินกู้ หากนางบังอรทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นางบังอรก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจากนางบังอรอาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่นางบังอรยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นางบังอรเผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะนางบังอรผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้นางบังอรเป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ใช้ให้นางบังอรกระทำความผิด แต่ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้ให้กระทำความผิดฐานทำลายเอกสารไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในคำฟ้องในสาระสำคัญ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสาร พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสารนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำลายเอกสารนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า กรณีมีเหตุให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทำการทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเอง ทำให้เสียชื่อเสียงและความเชื่อถือของสมาชิกและประชาชนทั่วไป เป็นผลเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อย่างมาก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษนั้นนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 188 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก 1 ปี ฐานทำลายเอกสาร จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share