คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ อันมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าพนักงานดังกล่าว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและประชาชน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 แต่คำขอท้ายฟ้องกลับขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 269 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ เห็นได้ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง กรณีเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 5 และ 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 269, 90 และ 83
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (ที่ถูก มาตรา 14 (1)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 269 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 มิได้ให้การรับสารภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้สำนึกในการกระทำ แต่เพิ่งให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาภายหลังที่โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ไม่ตระหนักสำนึกในหน้าที่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ประเทศชาติพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะอุกอาจรุนแรง จึงไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการแสดงตนของบุคคล จำเลยที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 คือบุคคลอื่นและร่วมกันลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกคำให้การรับรองบุคคลในการขอทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยที่ 1 ในนามของบุคคลดังกล่าวนั้น นับเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปที่อาจหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลอื่นได้ ประกอบกับตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล แทนที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือราชการสอดส่องดูแลมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่กลับมาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างที่ผู้อื่นมอบให้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ อันมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าพนักงานดังกล่าว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แต่คำขอท้ายฟ้องกลับขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ เห็นได้ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง กรณีเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นเป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แทนมาตรา 269 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share