แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องสอดกล่าวว่า ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ซึ่งคำขอกับนัยที่อ้างไม่ตรงกัน กล่าวคือ การขอเข้าเป็นจำเลยร่วมย่อมเป็นไปตามมาตรา 57(2) เท่านั้น แต่ลักษณะข้ออ้างของผู้ร้องสอดได้อ้างเข้ามาในทางว่า ตนเองมีสิทธิที่จะบังคับเอากับทรัพย์รายพิพาทได้โดยโจทก์และจำเลยไม่มีสิทธิดีกว่าอย่างไร การอ้างเข้ามาจึงมีลักษณะเข้าตามมาตรา57(1) ซึ่งมิใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องการขอเข้าเป็นจำเลยร่วม เมื่อคำขอกับนัยที่อ้างไม่ตรงกันอยู่ หากจะเห็นว่าความประสงค์อันแท้จริงของผู้ร้องก็คือ จะขอเข้าบังคับเอาตามสิทธิของตนดังที่มีอยู่โดยอาศัยความในมาตรา 57(1)นั้นเองแล้ว การที่จะรับให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในฐานนี้ได้ก็จำต้องมีโจทก์จำเลยเดิมว่าคดีกันต่อไป และตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยผู้ร้องสอดไปทั้งคู่ แต่เมื่อโจทก์จำเลยเดิมได้ยอมความเสร็จเรื่องกันไปแล้ว จึงหมดกรณีที่ผู้ร้องสอดจะอาศัยร้องสอดเข้าไปในฐานะนี้ได้เสียแล้วเป็นเรื่องของผู้ร้องสอดที่จะดำเนินคดีของตนในทางอื่นต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำการโอนบ้านและสิทธิการเช่าที่ดินที่ปลูกบ้านที่จำเลยตกลงขายให้แก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ตกลงขายให้โจทก์ แต่ตกลงขายให้นายสมบุญนายสมบุญถึงแก่กรรมไปแล้ว
ก่อนวันนัดชี้สองสถาน จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนางละมัยภรรยานายสมบุญเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่ปรากฏว่าส่งหมายให้นางละมัยไม่ได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเรียกนางละมัยจึงให้งดเรียก
ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ นางละมัยร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๑) อ้างว่าเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและทายาทผู้รับมรดกของนายสมบุญ ในการรับโอนบ้านรายพิพาท ฯลฯ ศาลชั้นต้นสั่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่า ให้ยกคำร้องในวันนั้นเองโจทก์จำเลยก็ได้ทำสัญญายอมความกันในศาล และศาลพิพากษาตามยอม
นางละมัยผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องสอดขอเข้ามาเป็นฝ่ายในคดีของผู้ร้องสอดฉบับนี้ เนื้อความในคำร้องกล่าวว่า ขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๑) ซึ่งคำขอกับนัยที่อ้างนั้นเป็นการไม่ตรงกัน กล่าวคือ การขอเข้าเป็นจำเลยร่วมย่อมเป็นไปได้โดยอาศัยข้อบัญญัติแห่งมาตรา ๕๗ ข้อ ๒ เท่านั้น ซึ่งยังมีหลักเกณฑ์ที่มาตรา ๕๘ บัญญัติไว้ต่อไปว่า ผู้ขอเข้าร่วมจะใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่ผู้ถูกเข้าร่วมมีอยู่นั้นไม่ได้ แต่ลักษณะข้ออ้างของผู้ร้องสอดรายนี้ได้อ้างเข้ามาในทางว่า ตนเองมีสิทธิที่จะบังคับเอากับทรัพย์รายพิพาทได้โดยโจทก์และจำเลยไม่มีสิทธิดีกว่าอย่างไร การอ้างเข้ามาจึงมีลักษณะเข้าตามมาตรา ๕๗(๑)ซึ่งไม่ใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องการขอเข้าเป็นจำเลยร่วมแต่อย่างไรเมื่อคำขอกับนัยที่อ้างไม่ตรงกันอยู่ดังนี้ หากจะเห็นว่าความประสงค์อันแท้จริงของผู้ร้องก็คือจะขอเข้ามาบังคับเอาตามสิทธิของตนดังที่มีอยู่โดยอาศัยความในมาตรา ๕๗(๑) นั้นเองแล้ว การที่จะรับให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในฐานนี้ได้ ก็จำต้องได้มีโจทก์จำเลยเดิมว่าคดีกันต่อไป แล้วตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยของผู้ร้องสอดไปทั้งคู่ แต่บัดนี้โจทก์จำเลยเดิมเหล่านั้นก็ได้ยอมความเสร็จเรื่องกันไปแล้ว จึงหมดกรณีที่ผู้ร้องสอดจะอาศัยร้องสอดเข้าไปในฐานะนี้ได้เสียแล้วเป็นเรื่องของผู้ร้องสอดที่จะดำเนินคดีของตนในทางอื่นต่อไป
จึงโดยผลที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องมาแล้วนั้นไม่มีเหตุที่จะแก้ไขในชั้นนี้ ศาลฎีกาคงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์