คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การบอกเลิกสัญญาจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 คือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดนัดและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาแม้สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจำเลยเคยผ่อนผันการผิดสัญญาเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การผ่อนผันการผิดสัญญาตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาผ่อนผันการผิดสัญญาครั้งก่อนๆ โดยมิได้ยินยอมให้มีการผิดสัญญาในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย แต่การที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงหาใช่กรณีที่จำเลยยอมผ่อนผันการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ การที่จำเลยไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด แต่จำเลยก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมา โดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ทำผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง 234,998 บาท แล้วโอนกรรมสิทธิ์รถบดอัดสั่นสะเทือนให้โจทก์หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระเงินค่าขาดประโยชน์วันละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะโอนรถให้โจทก์ หากสภาพบังคับไม่สามารถเปิดช่องให้กระทำได้ ให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 2,044,300 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยส่งคืนและโอนทะเบียนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งคืนและโอนทะเบียนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์เช่าซื้อรถบดอัดสั่นสะเทือนไปจากจำเลย 1 คัน ราคา 2,279,200 บาท ตกลงชำระเงินในวันทำสัญญา 400,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระงวดละ 78,300 บาท รวม 24 งวด งวดแรกวันที่ 25 มีนาคม 2538 งวดสุดท้ายชำระวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ในการชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาและจำเลยยินยอมรับค่าเช่าซื้อจากโจทก์ทุกครั้งตลอดมา โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดสุดท้ายเป็นเงิน 234,998 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2541 จำเลยได้ยึดรถที่เช่าซื้อคืนไปจากโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 จะได้กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อไว้ตามวันแห่งปฏิทินซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องเตือนก่อน แต่คดีนี้โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงกำหนดและจำเลยก็รับชำระค่าเช่าซื้อทุกครั้งมาโดยตลอด พฤติการณ์แสดงว่า โจทก์และจำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อแต่ละงวดเป็นสาระสำคัญ แม้โจทก์จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน ก็ไม่ถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว ในการบอกเลิกสัญญาจำเลยจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดนัดและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา ทั้งแม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14 จะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจำเลยเคยผ่อนผันการผิดสัญญาเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การผ่อนผันการผิดสัญญาตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาผ่อนผันการผิดสัญญาครั้งก่อนๆ โดยมิได้ยินยอมให้มีการผิดสัญญาในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ หาใช่กรณีที่จำเลยยอมผ่อนผันการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองและมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อโจทก์ไม่ผิดสัญญาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาด้วยวาจาจริงหรือไม่ ส่วนโจทก์จะได้โต้แย้งคัดค้านการยึดรถหรือไม่ซึ่งจะทำให้สัญญาเลิกกันโดยปริยายนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทและมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ผิดนัดจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ เมื่อจำเลยไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ราคารถที่เช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,000 บาท สูงเกินไปหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ไม่เกิน 150,000 บาท และราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อมีราคาในขณะยึดเพียง 600,000 บาท โจทก์เป็นหนี้จำเลยค่าเช่าซื้อค้างชำระ 3 งวด เป็นเงิน 234,998 บาท และค่าเสียหายจากการชำระหนี้ล่าช้าเป็นเงิน 78,690 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ไม่เกิน 436,312 บาท เห็นว่า แม้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด แต่จำเลยก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระหนี้ล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์จึงไม่อาจนำค่าปรับดังกล่าวมาคิดหักกลบหนี้ได้ สำหรับค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับราคารถที่เช่าซื้อซึ่งมีราคาเช่าซื้อสูงถึง 2,279,200 บาท และค่าเช่าซื้อแต่ละเดือนที่ตกลงผ่อนชำระกันก็เป็นจำนวนมากถึงเดือนละ 78,300 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดประโยชน์เดือนละ 23,490 บาท และเป็นเวลาเพียง 10 เดือนเป็นเงิน 234,900 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนราคารถที่เช่าซื้อในขณะยึดรถคืนนั้น เมื่อพิจารณาถึงราคาเช่าซื้อที่มีราคาสูงถึง 2,279,200 บาท ย่อมจะมีราคาเงินสดที่สูงตามไปด้วย รถที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทที่ต้องใช้งานหนัก เมื่อใช้งานนานประมาณ 38 เดือนก็ย่อมจะเสื่อมสภาพและเสื่อมราคาไปมากเป็นธรรมดา ถึงกระนั้นก็ไม่น่าจะมีราคาเหลือเพียง 600,000 บาท ตามที่จำเลยฎีกา แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคารถที่เช่าซื้อให้ถึง 1,150,000 บาท นั้นก็สูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดราคาที่เหมาะสมให้เป็นเงิน 900,000 บาท ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่สามารถส่งคืนและโอนทะเบียนได้ ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share