คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จ. เจ้ามรดกถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถแต่ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นผลให้ จ. ยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิม แม้ในระหว่างที่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คำสั่งที่ให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงยกเลิก เพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นศาลเดียวกันที่ได้สั่งให้ จ. เป็นคนไร้ความสามารถมาก่อน ทั้งไม่มีผลทำให้สถานภาพการเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลต้องขาดช่วงไปหรือสะดุดหยุดชั่วคราวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด การที่ จ. โดยความยินยอมของผู้พิทักษ์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ จ. ตกเป็นคนไร้ความสามารถพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงผู้เดียวของพันโทพระเหี้ยมใจหาญ (นายเหม ยศธร) กับนางเจียร ยศธร ขณะที่โจทก์ฟ้องคดี บิดาและมารดาของโจทก์ถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อประมาณปี 2532 มารดาของโจทก์ซึ่งมีอายุ 90 ปี ป่วยเป็นอัมพาต สมองเสื่อม ตอบคำถามโดยไม่คิดว่าผิดหรือถูก ตามองเห็นเพียงร้อยละ 60 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีพได้ โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งว่า มารดาของโจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้ตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่โจทก์ร้องขอ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ขอรับเอามารดาโจทก์ไปดูแลตามหน้าที่ แต่จำเลยและบิดาของจำเลยไม่ยอมให้โจทก์รับเอามารดาของโจทก์ไปอุปการะเลี้ยงดูโดยอ้างว่าจะเป็นผู้ดูแลเอง ทั้งนี้จำเลยและบิดาของจำเลยหวังจะได้ทรัพย์สินจากมารดาของโจทก์ ต่อมาจำเลยกับบิดาของจำเลยร่วมกับบุคคลอื่นและเจ้าหน้าที่ปกครองประจำเขตภาษีเจริญทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของมารดาโจทก์ ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดยทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ ซึ่งจำเลยกับบุคคลดังกล่าวทราบอยู่แล้วว่ามารดาของโจทก์เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถรับมรดกของมรดาโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าวเป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันโทพระเหี้ยมใจหาญ กับนางเจียร ยศธร เนื่องจากพันโทพระเหี้ยมใจหาญเป็นหมันไม่สามารถมีบุตรได้ พันโทพระเหี้ยมใจหาญกับนางเจียรจึงรับพันตำรวจโทศุภศักดิ์ ยศธร บิดาของจำเลย และนางตระการเฉลิมชัย เป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ไม่ใช่ทายาทของนางเจียรจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมของนางเจียร จำเลยและบิดาของจำเลยเลี้ยงดูอยู่ร่วมบ้านกับนางเจียรตลอดมา จนกระทั่งนางเจียรถึงแก่ความตาย นางเจียรเคยป่วยเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองตีบร่างกายซีกขวาเป็นอัมพาต จำเลยพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจนกระทั่งมีอาการดีขึ้นพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้บ้าง แต่โจทก์แอบไปยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งว่านางเจียรเป็นคนไร้ความสามารถโดยขอให้แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ เมื่อนางเจียรทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตนเป็นคนไร้ความสามารถได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านางเจียรเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้เพิกถอนคำสั่งที่ว่านางเจียรเป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งบิดาของจำเลยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้นางเจียรเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและขอให้ตั้งบิดาของจำเลยเป็นผู้พิทักษ์ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่านางเจียรเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งบิดาของจำเลยเป็นผู้พิทักษ์ และคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมานางเจียรได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามฟ้องขึ้นในขณะที่นางเจียรมีสติสัมปชัญญะดี และบิดาของจำเลยในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้สืบสันดานของนางเจียรเจ้ามรดก ไม่มีส่วนได้เสียในคดี ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางเจียร คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่น พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนางเจียร ยศธร ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 เป็นโมฆะ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2532 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้นางเจียร ยศธร เจ้ามรดก ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 90 ปี เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว เนื่องจากได้ความว่านางเจียรป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตันประกอบกับความชราทำให้นางเจียรไม่สามารถช่วยตนเองได้ต้องอยู่ในความดูแลของผู้อื่นตลอดเวลาตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4004/2532 ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2533 พันตำรวจโทศุภศักดิ์ ยศธร บิดาของจำเลยซึ่งอ้างว่าเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดกและตั้งพันตำรวจโทศุภศักดิ์เป็นผู้อนุบาลแทน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดกและตั้งพันตำรวจโทศุภศักดิ์เป็นผู้อนุบาลแทนเนื่องจากเห็นว่าเจ้ามรดกยังเป็นคนไร้ความสามารถ โจทก์ฎีกาซึ่งต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องของพันตำรวจโทศุภศักดิ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2535 แต่ในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางเจียรเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2533 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้นางเจียรเป็นคนไร้ความสามารถ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 ให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และคดีที่พันตำรวจโทศุภศักดิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พันตำรวจโทศุภศักดิ์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 ขอให้สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ครั้นวันที่ 3 กันยายน 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้นางเจียรเจ้ามรดกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของพันตำรวจโทศุภศักดิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2534 นางเจียรเจ้ามรดกโดยความยินยอมของพันตำรวจโทศภุศักดิ์ผู้พิทักษ์ตามสำเนาหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย ล.13 ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นโมฆะในคดีนี้ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำฟ้องซึ่งตรงกับสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.12 แต่ครั้นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2534 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่พันตำรวจโทศุภศักดิ์เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยเรื่องขอให้เพิกถอนโจทก์ในคดีนี้จากการเป็นผู้อนุบาลของนางเจียรเจ้ามรดก โดยศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนโจทก์ในคดีนี้จากการเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดกเป็นให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2535 และต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นางเจียรเจ้ามรดกขอให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้นางเจียรเป็นคนไร้ความสามารถซึ่งมีโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้คัดค้าน โดยศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้นางเจียรเจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถเป็นให้ยกคำร้องขอของนางเจียรเจ้ามรดกตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2537
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องผู้อนุบาล การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้อนุบาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทและไม่ได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เห็นว่า นอกจากโจทก์จะบรรยายคำฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวที่มีสิทธิรับมรดกของนางเจียรเจ้ามรดก การที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามฟ้องขึ้น ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับมรดกของนางเจียรได้แล้ว โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนอีกว่านางเจียรเจ้ามรดกซึ่งทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้เป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยมีโจทก์เป็นผู้อนุบาลตามสำเนาคำพิพากษาท้ายคำฟ้อง กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิในการฟ้องคดีนี้ในสองฐานะ คือ ในฐานะเป็นผู้อนุบาลของนางเจียรเจ้ามรดกคนไร้ความสามารถฐานะหนึ่งและในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางเจียรเจ้ามรดกอีกฐานะหนึ่ง และประเด็นข้อพิพาทหลักในคดีก็คือพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 ของนางเจียรเจ้ามรดกมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานีเพียงว่าโจทก์เป็นบุตรของนางเจียรเจ้ามรดกหรือไม่ก็เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั่นเองซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางเจียรเจ้ามรดกจริงหรือไม่ ก็เป็นรายละเอียดข้อหนึ่งที่รวมอยู่ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แต่ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดกนั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในข้อนี้ อันเป็นข้อที่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตั้งแต่ในคำฟ้องและทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งเป็นการสมประโยชน์แก่จำเลย เช่นนี้จึงถือว่าเป็นรายละเอียดของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่รวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทแล้ว ทั้งเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามหรือขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ดังที่จำเลยยกขึ้นโต้แย้งในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้อนุบาลของเจ้ามรดกจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในข้อที่ว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกจริงหรือไม่
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 ที่เจ้ามรดกทำขึ้นมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสถานภาพของนางเจียร ยศธร เจ้ามรดกซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทั้งในคดีที่พันตำรวจโทศุภศักดิ์ซึ่งอ้างว่าเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดก และในคดีที่นางเจียรตัวเจ้ามรดกเองยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้นางเจียรเป็นคนไร้ความสามารถตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2535 และ 3370/2537 ปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนโจทก์ในคดีนี้จากการเป็นผู้อนุบาลของเจ้ามรดก เป็นให้ยกฟ้อง ดังนั้น ผลของคดีดังกล่าวจึงทำให้โจทก์ในคดีนี้ยังคงเป็นผู้อนุบาลของนางเจียรเจ้ามรดกตามเดิมและเมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถเป็นให้ยกคำร้องของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นผลให้เจ้าของมรดกยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิมเช่นกัน ผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านางเจียรเจ้ามรดกยังคงเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของโจทก์ตลอดมา เมื่อเป็นเช่นนี้แม้ในระหว่างที่คดีทั้งสองดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้นางเจียรเจ้ามรดกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยให้อยู่ในความพิทักษ์พันตำรวจโทศุภศักดิ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 3418/2534 ของศาลชั้นต้นก็ตาม คำสั่งที่ให้นางเจียรเจ้ามรดกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นศาลเดียวกันที่ได้สั่งให้นางเจียรเจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถมาก่อน ทั้งไม่มีผลทำให้สถานภาพการเป็นคนไร้ความสามารถของนางเจียรเจ้ามรดกซึ่งเป็นสภาพบุคคลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4004/2532 ของศาลชั้นต้นต้องขาดช่วงไปหรือสะดุดหยุดอยู่ชั่วคราวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดแต่ประการใดไม่ ดังนั้นเมื่อนางเจียรเจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามสำเนาท้ายคำฟ้องหรือเอกสารหมาย ล.23 ตามที่จำเลยส่งอ้างเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่นางเจียรเจ้ามรดกมีสภาพบุคคลตกเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4004/2532 พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ทรัพย์มรดกทั้งปวงของนางเจียรเจ้ามรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share