คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ชั้นบังคับคดีในคดีก่อนเป็นคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องว่าไม่ใช่บริวาร โจทก์กับจำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งคดีก่อนและคดีนี้ต่างมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน ซึ่งคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีก ในประเด็นเดียวกันย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 259 ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ (มะขาม) จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา จากนายเพิ่ม แก้วเขียว แต่หลังจากนายเพิ่มจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ โจทก์จึงฟ้องนายเพิ่มเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับนายเพิ่มและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ในคดีดังกล่าวโจทก์กับนายเพิ่มทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แล้วนายเพิ่มผิดนัด โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีแก่นายเพิ่ม จำเลยและบริวาร จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 349 ตำบลตะเคียนทอง (คลองพลู) อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 39 ไร่ 60 ตารางวา มาจากนางฉอ้อน สุภาพเพชร นางฉอ้อนชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์รวมเข้าไปด้วย จำเลยเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์โดยไม่มีเจตนาและโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของนางฉอ้อน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ ก่อนฟ้องโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ทำให้โจทก์เสียหายและขาดรายได้จากการใช้ที่ดินทำการเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าปีละ 500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 259 ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ (มะขาม) จังหวัดจันทบุรี และชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท กับอีกเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1059/2538 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้กับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1059/2538 ของศาลชั้นต้นเป็นที่ดินแปลงเดียวกันได้แก่ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 259 โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายเพิ่ม แก้วเขียว กับบริวารให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนายเพิ่มยอมขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีถึงที่สุดแล้ว นายเพิ่มไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนายเพิ่มยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ใช่บริวารของนายเพิ่มและอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของ หาได้ครอบครองโดยอาศัยสิทธิของนายเพิ่มไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยซื้อที่ดินจากผู้อื่นและรุกล้ำเข้าครอบครองทำประโยชน์กับปลูกบ้านในที่ดินพิพาทซึ่งเคยเป็นของนายเพิ่มตลอดมา นายเพิ่มมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครองก็แต่โดยต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 เมื่อปรากฏว่านายเพิ่มไม่ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากนายเพิ่มไม่มีสิทธิดีไปกว่านายเพิ่ม ก่อนคดีในชั้นบังคับคดีดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยถึงที่สุด โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยตั้งรูปคดีเช่นเดียวกับที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันในชั้นบังคับคดีว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อจากนายเพิ่ม ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทดังนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยในคดีก่อนกับในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนเป็นคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ในฐานะผู้ร้อง โจทก์กับจำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งคดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่ามีประเด็นอย่างเดียวกัน ซึ่งประเด็นในคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีกในประเด็นเดียวกันย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share