คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4)กำหนดให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญมีอายุความ 5 ปีแต่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ มีบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะว่าสิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้มีกำหนดอายุความ 3 ปี เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 30(จ)กรณีจึงต้องนำอายุความตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 10มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 ซึ่งเกินกำหนด3 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนจำนวน 176,613.84 บาท แก่โจทก์และจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนเพิ่มให้โจทก์อีกเดือนละ 3,396.42 บาท รวมเป็นเงินสงเคราะห์รายเดือน เดือนละ 8,264.60 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนตลอดชีวิตโจทก์หากจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 16พฤษภาคม 2496 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งเสมียนต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2529 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือถูกสอบสวนในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ขณะนั้นโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,430 บาท โจทก์มีเวลาทำงานปกติเป็นเวลา 32 ปี9 เดือน 16 วัน และมีเวลาทำงานทวีคูณตามกฎอัยการศึกเพิ่มอีก7 ปี 4 เดือน 19 วัน รวมเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนเป็นเวลา 40 ปี 2 เดือน 9 วัน เฉพาะการทำงานช่วงแรกดังกล่าวโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เดือนละ4,344 บาท และจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2529 ตลอดมา แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้เปลี่ยนโทษจากให้โจทก์ออกจากงานเป็นตัดเงินเดือนร้อยละ 10 มีกำหนด 3 เดือนต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์กลับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างตามโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่เดือนละ 6,985 บาท วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยบอกเลิกการรับเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่โจทก์มิได้นำเงินคืนจำเลย จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2536โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,610 บาท โจทก์มีเวลาทำงานปกติเฉพาะช่วงหลังเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน 11 วัน และมีเวลาทำงานทวีคูณตามกฎอัยการศึกเพิ่มอีก 2 เดือน 8 วัน รวมเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 19 วันจำเลยมีระเบียบวิธีนับเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนว่าเศษของปีถ้าเกิน 6 เดือน ให้นับเป็น 1 ปีดังนั้นเวลาทำงานของโจทก์ช่วงแรกเป็นเวลา 40 ปี ส่วนช่วงหลังเป็นเวลา 3 ปี การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือถูกสอบสวนในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ ตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงาน มิใช่เป็นกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานออกจากงานเพราะเหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพเหตุสูงอายุ หรือเหตุทำงานนาน อันจะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย ล.1ข้อ 14 และตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494มาตรา 8(1) ก็บัญญัติว่า ผู้ถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการเพราะมีความผิดไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนจากจำเลย ดังนั้น เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือนภายหลังจากจำเลยให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529ย่อมไม่ใช่เงินสงเคราะห์รายเดือน ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ดังกล่าว ส่วนที่จำเลยมีคำสั่งภายหลังให้เปลี่ยนระดับโทษจากให้โจทก์ออกจากงานเป็นตัดเงินเดือนร้อยละ 10 มีกำหนด 3 เดือน และให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมก็ไม่ปรากฏว่า คำสั่งที่ลงโทษให้โจทก์ออกจากงานดังกล่าวมีความผิดพลาดหรือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแม้มีการนำความผิดของโจทก์ซึ่งได้พิจารณาและลงโทษเสร็จสิ้นแล้วกลับมาพิจารณาโทษใหม่จำเลยก็คงยืนยันความผิดของโจทก์เช่นเดิมเพียงแต่จำเลยเปลี่ยนระดับโทษเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนจากจำเลยและเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์รายเดือนดังกล่าวไม่ใช่เงินสงเคราะห์รายเดือนจึงนำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30 (จ) และมาตรา 35 ซึ่งใช้บังคับแก่ผู้ได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญปกติมาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ โจทก์ไม่อาจนับเวลาทำงานของโจทก์ทั้งสองช่วงรวมกันเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนได้ จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่อีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยต้องนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ทั้งสองช่วงรวมกันเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30 วรรคสาม (จ)นั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1จำเลยนับอายุงานโจทก์เพื่อคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนถูกต้องและจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ข้อ 2 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อ 2 เสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 17และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30(จ)เห็นได้ว่าการคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีสิทธินับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 30 (จ) แต่ผู้มีสิทธินับเอาประโยชน์จากเวลาทำงานช่วงหลังที่กลับเข้าทำงานใหม่ไปรวมกับเวลาทำงานช่วงแรกตามมาตรา 30(จ) ได้จะต้องเป็นผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติอยู่แล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30(จ)เงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวจึงมีสภาพเช่นเดียวกับเงินบำนาญปกตินั่นเองที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(4) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญ มีกำหนดอายุความ 5 ปี แต่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 10 บัญญัติให้สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความ 3 ปี และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 เป็นกฎหมายพิเศษซึ่งบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงให้นำอายุความตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จึงมิได้ฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติเฉพาะส่วนที่อ้างว่าขาดภายในกำหนด 3 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยต้องนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ทั้งสองช่วงรวมกันเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนให้แก่โจทก์หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share