คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพรากเด็กหญิง พ. อายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจาร และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง พ. ซึ่งมิใช่ภริยาของตน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกกระทงหนึ่งและมาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง ซึ่งความผิดข้อหาพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามมีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ แต่ความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้เฉพาะในวรรคแรกเท่านั้นดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องและลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 โดยมิได้ระบุวรรคซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามทั้งวางโทษจำเลยโดยอาศัยบทมาตราดังกล่าว ก็เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ และกำหนดโทษให้เบาลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้พรากเด็กหญิงพร ใจดี ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ไปเสียจากบิดาและผู้ปกครองของผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจาร และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91 วางโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและมิใช่ภริยาของตน โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม จำคุก 8 ปีรวมลงโทษจำเลยจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 9 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอรอการลงโทษ หรือลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 91 วางโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก จำคุก 4 ปี มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปีรวมจำคุก 9 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่สมควรจะได้วินิจฉัยเป็นอันดับแรกเสียก่อนว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษและลงโทษจำเลยโดยอาศัยบทลงโทษดังกล่าวเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้พรากผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาและผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจาร และในวันที่เกิดเหตุนั้นจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหาย ไม่ยินยอม ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนี้แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหากระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก กระทงหนึ่ง และในความผิดข้อหาพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง แม้ความผิดทั้งสองข้อหาโจทก์มิได้ระบุวรรคมาก็ตาม ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อความผิดข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หากจำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อความผิดในมาตราดังกล่าวในวรรคแรกมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้เฉพาะในวรรคแรกเท่านั้น ดังนั้นคดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องและลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 โดยมิได้ระบุวรรคซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ก็มิได้หมายความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม หากศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษและลงโทษจำเลยใหม่ให้ถูกต้องก็มีอำนาจกระทำได้แต่การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ทั้งวางโทษจำเลยโดยอาศัยบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ และวินิจฉัยต่อไปว่าคดีนี้ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องมาในคดีว่าผู้เสียหายไม่ติดใจจะเอาความกับจำเลยและขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา จึงสมควรกำหนดโทษจำเลยให้เบาลงเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรรอการลงโทษ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รวมกับโทษจำคุก 2 ปีตามมาตรา 277 วรรคแรก ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นจำคุก 4 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share