คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงขั้นตอนการบังคับคดี ไม่ทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขยายออกไป
ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,047,362 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้จำกัดต้นเงินเพียงไม่เกิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3285 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 673/2537 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างนายบัว โสพันธ์ โจทก์ นายรักขิต ปินตาเขียว จำเลย ซึ่งศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ผู้ร้องคดีนี้) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9923 ต่อมาผู้ร้องได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า โจทก์คดีนี้ได้ยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ไว้ก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับคดีได้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 หรือเฉลี่ยเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว หากมีการถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ก่อนมีการขายทอดตลาดไม่ว่ากรณีใด ผู้ร้องขอบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ผู้ร้องมิได้ขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โดยยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่ผู้ร้องจะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 การขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ที่โจทก์บังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง ใหเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 673/2537 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 คดีถึงที่สุดแล้ว วันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9923 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2548 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกยึดไว้ก่อนแล้วในคดีนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาในคดีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นการร้องขอให้บังคับคดีจึงต้องกระทำภายในกำหนด 10 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้วนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดี หาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปแต่อย่างใด หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้หรือขอบังคับคดีต่อไปจะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะได้ความว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และต่อมาปรากฏว่าการยึดที่ดินดังกล่าวเป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share