คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ และในอุทธรณ์ดังกล่าวมีข้อความประทับว่า “ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้น ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยทนายจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าวจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งแล้ว และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารอจำเลยที่ 1 แถลง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเองแต่ให้เจ้าหน้าที่ศาลไปนำส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอจำเลยที่ 1 แถลง โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 แถลงและไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบอีก ก็ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 มิได้แถลงต่อศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซื้อทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)
ส่วนการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์นั้น เป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นผู้ส่ง เมื่อส่งไม่ได้และศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่ทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา และขายได้ในราคา 840,000 บาท จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยรวบรัดและขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์คัดค้านว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ แต่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งว่ารอจำเลยที่ 1 แถลง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ศาลชั้นต้นจึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ว่า รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ และในอุทธรณ์ดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า “ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2547 แต่ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ว่า รอจำเลยที่ 1 แถลง ถ้าจำเลยที่ 1 นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะทราบผลทันทีในวันที่ 20 มิถุนายน 2547 ว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในเวลาอันสมควร เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเองแต่ให้เจ้าหน้าที่ศาลไปส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอจำเลยที่ 1 แถลง โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 แถลง และไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบอีก ก็ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มิได้แถลงต่อศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซื้อทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (1) ส่วนการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์นั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้แจ้งผลการส่งหมายมายังศาลชั้นต้นว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอจำเลยที่ 1 แถลง กรณีเห็นได้ว่าเป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นผู้ส่ง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่ทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์โดยยังไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นควรสั่งให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์เฉพาะที่สั่งจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแจ้งผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลอุทธรณ์

Share