คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4108/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยบทที่ 7 ระเบียบวินัย โทษทางวินัย และการทำงานอย่างมีระเบียบข้อ 47 ระบุว่าจำเลยมีสิทธิโอนย้ายลูกจ้างจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งของจำเลยได้โดยไม่มีข้อความระบุว่าจำเลยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างในการย้ายก่อน ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดอื่นๆ จึงเป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 47 แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตาม ป.พ.พ. ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลแรงงานภาค 5 มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 จำเลยสั่งย้ายโจทก์ที่ 1 ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการที่จังหวัดระยอง ย้ายโจทก์ที่ 2 ไปปฏิบัติหน้าที่เสมียนประจำภาคกลางที่จังหวัดอ่างทอง ย้ายโจทก์ที่ 3 ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการประกันและควบคุมคุณภาพภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้ายโจทก์ที่ 4 ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทรา โจทก์ทั้งสี่อธิบายแก่จำเลยว่าโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 กับโจทก์ที่ 2 เป็นสามีภริยากัน ต้องดูแลบุตรและบิดามารดา คำสั่งย้ายทำให้ครอบครัวต้องแยกกันอยู่ ขาดความอบอุ่น จึงเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ยังคงทำงานที่สำนักงานของจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกวันจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2548 และในวันที่ 21 เมษายน 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้รับโบนัสประจำปี ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โบนัส พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยใช้อำนาจบริหารจัดการออกคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 4 เมษายน 2548 วันที่ 7 เมษายน 2548 วันที่ 4 เมษายน 2548 และวันที่ 4 เมษายน 2548 ตามลำดับ แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยมีคำสั่งซ้ำโดยกำหนดให้เริ่มปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 โจทก์ทั้งสี่ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยไม่ได้เจตนากลั่นแกล้งในการสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ยกเหตุส่วนตัวซึ่งไม่ใช่เหตุจำเป็นอันจะเป็นอุปสรรคถึงขนาดที่ไม่สามารถไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยได้อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยบทที่ 7 ข้อ 8, 22 ถือว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง และละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ในวันที่ 21 เมษายน 2548 โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยมีหลักเกณฑ์จ่ายโบนัสให้ลูกจ้างที่ทำงานกับจำเลยถึงวันที่จ่ายโบนัสคือวันที่ 29 ธันวาคม 2548 โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ทำงานกับจำเลยจนถึงวันจ่ายโบนัสจึงไม่มีสิทธิได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 733,900 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 145,793 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 603,230 บาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 522,043 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 4 เมษายน 2548 และให้โจทก์ที่ 2 ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 7 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงออกคำสั่งอีกครั้งให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 ถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจเอาความกรณีโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งย้ายฉบับแรก จึงมีกรณีต้องพิจารณาเฉพาะที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งย้ายครั้งหลังที่ให้ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย บทที่ 7 ระเบียบวินัย โทษทางวินัย และการทำงานอย่างมีระเบียบข้อ 47 ระบุว่าจำเลยมีสิทธิโอนย้ายลูกจ้างจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งของจำเลยได้ โดยไม่มีข้อความระบุว่าจำเลยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างในการย้ายก่อน ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 47 แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาแต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม การที่โจทก์ทั้งสี่ทำหนังสือถึงจำเลยว่าโจทก์ทั้งสี่จะย้ายเมื่อจำเลยจ่ายค่าครองชีพเพิ่มอีกร้อยละ 50 ของเงินเดือนให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และร้อยละ 100 ให้โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าเช่าที่พักเดือนละ 6,500 บาท จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับจังหวัดเชียงใหม่ทุกสัปดาห์ จ่ายค่าสอนพิเศษให้บุตรเดือนละ 4,000 บาท ถึง 8,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งย้ายของจำเลยโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 47 และชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเงินค่ารถเป็นค่าจ้างหรือไม่ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ศาลแรงงานภาค 5 ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอที่จะย้ายโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ โจทก์ทั้งสี่จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง หรือจงใจขัดคำสั่งของจำเลยหรือไม่ และจำเลยลดสภาพการจ้างของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share