แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 วรรคแรกระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี (ปัจจุบันร้อยละ 13.75 ต่อปี) วรรคสอง ระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ 2 ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ โดยให้คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่คงค้างทั้งจำนวน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 1 เป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยใช้อัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. และให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้แต่แรกได้ ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นเรื่องที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นในกรณีที่จำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับแต่จำเลยผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเท่านั้น จึงไม่ชอบ
ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องผ่านชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,300 บาท โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่าหากจำเลยผิดนัดในข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีก็ตามก็หาใช่เป็นการบังคับว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้คืนจากจำเลยทันทีไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผ่อนผันให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระหนี้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัด เพราะเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ดังนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและสำเนาประกาศของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยกรณีผิดนัดนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมานั้นไม่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรา ดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันรวม 7 จำนวน คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแต่ละครั้ง โดยมิได้ระบุว่าดอกเบี้ยในส่วนนี้เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินตามคำขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินคำขอของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 711,187.21 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำลเยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 336,728.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) ไม่ให้เกิน 5 ปี และให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ชำระแทนพร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 50309 ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องและพยานเอกสารที่โจทก์ส่งต่อศาลแทนการสืบพยานว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 400,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย โดยจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน จำเลยชำระหนี้ซึ่งต้องผ่อนชำระเป็นรายเดือนตามสัญญาให้แก่โจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยผิดนัด และชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยยังคงค้างชำระหนี้ต้นเงิน 336,728.45 บาท ตามบัญชีเงินกู้ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ผิดนัด นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 โดยสัญญาข้อ 1 วรรคแรกระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี (ปัจจุบันร้อยละ 13.75 ต่อปี) วรรคสองระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ 2 ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ โดยให้คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่คงค้างทั้งจำนวน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 1 เป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยใช้อัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. และให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้แต่แรกได้ ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นในกรณีที่จำเลยผิดนัด ซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับแต่จำเลยผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเท่านั้น จึงไม่ชอบ ส่วนที่วินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยผิดนัดแล้วถึง 7 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตจึงกำหนดดอกเบี้ยก่อนฟ้องให้ไม่เกิน 5 ปี นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย ข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,300 บาท โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่า หากจำเลยผิดนัดในข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีก็ตาม ก็หาใช่เป็นการบังคับว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้คืนจากจำเลยทันทีไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผ่อนผันให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระหนี้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจึงไม่ถูกต้อง ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดเพราะเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ดังนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและสำเนาประกาศของโจทก์ว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยกรณีผิดนัดนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมานั้นไม่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากต้นเงิน 336,728.45 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้ตามสัญญา คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยเกี่ยวกับดอกเบี้ยในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันรวม 7 จำนวน คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแต่ละครั้ง โดยมิได้ระบุว่าดอกเบี้ยส่วนนี้เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกิน 1,101.65 บาท ตามคำขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินคำขอของโจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 336,728.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 369,520.27 บาท และดอกเบี้ยในเงินค่าเบี้ยประกันภัยเฉพาะส่วนที่คิดถึงวันฟ้องให้จำเลยรับผิดไม่เกิน 1,101.65 บาท ตามคำขอของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น