คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1075/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน เมื่อสืบพยานจำเลยบางคนแล้ว ศาลเลื่อนไปสืบพยานจำเลยต่อ ครั้งถึงวันนัด คู่ความขอเลื่อนคดี ศาลให้เลื่อนไปสืบพยาน 2 วัน ติดต่อกัน แต่จดรายงานพิจารณาไขว้เขวไปว่า “ให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 19-17 เดือนหน้าเวลา 9.30 น. ตามที่ตกลงกัน” ดังนี้ ต้องหมายความว่า ให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยก่อนแล้วจึงสืบพยานโจทก์ต่อไป
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อถึงวันนัดสืบในวันที่ 16 จำเลยและโจทก์ไม่มาศาล โดยพยานจำเลยที่ขอหมายเรียกไว้มีถึง 4 คน จะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบด้วยไม่ได้ หรือสมมติว่าในวันที่ 16 นั้น จำเลยแถลงไม่สืบพยานโจทก์ไม่รู้ตัวจึงไม่ได้เช่นเดียวกัน และการที่โจทก์จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งต่อๆ ไปเช่นในกรณีนี้ จะถือว่าขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 ไม่ได้เพราะการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา +++ ต้องเป็นการขาดนัดในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน ไม่ใช่วันสืบพยานครั้งต่อๆ มา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายด้วย
วันชี้สองสถาน จำเลยรับนำสืบก่อน เมื่อสืบพยานจำเลยได้ ๒ คน ศาลเลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ครั้นถึงวันนัดคู่ความตกลงกันขอเลื่อนคดี ศาลจดรายงานพิจารณาว่า “ให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที ๑๖ และ ๑๗ เดือนหน้า (คือมิถุนายน) เวลา ๙.๓๐ น. ตามที่ตกลงกัน” แต่ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๑ โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ และขอสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ โดยฝ่ายจำเลยได้ตกลงด้วยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้เลื่อน คงให้เป็นไปตามนัดเดิม
ครั้นถึงวันนัดเดิม คือ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๑ จำเลยและโจทก์ไม่มาศาล ศาลสั่งว่าโจทก์จำเลยขาดนัดและนัดฟังคำพิพากษา (ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๑) รุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ จำเลยยื่นคำร้องขอสืบพยานจำเลยต่อไป อ้างว่าการที่จำเลยไม่มาศาลในวันที่ ๑๖ ตามนัดเดิมเพราะเชื่อโดยสุจริตว่า ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสืบวันที่ ๑๗ ได้ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ให้เป็นไปตามคำสั่งเดิม จำเลยไม่อุทธรณ์คำสั่งนี้ แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยวันละ ๕๐ บาท แต่วันฟ้องไป
โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ ๑๖-๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ นั้น เห็นได้ว่า จดคำว่าโจทก์และจำเลยไขว้เขวไป ต้องหมายความว่า ให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยก่อนแล้วจึงสืบพยานโจทก์ต่อไป คงมีปัญหาแต่เพียงว่า การที่ศาลให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยและพยานโจทก์ติดต่อกัน ๒ วัน นั้น จะเป็นการนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๑ ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามปกติย่อมหมายความให้คู่ความเตรียมพยานไว้สืบต่อโดยไม่ให้เสียเวลาเกินควร แต่สำหรับคดีนี้มีพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงว่ามิใช่เพื่อนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๑๖ นั้นด้วย เพราะพยานจำเลยมีถึง ๑๒ คน และจำเลยขอหมายเรียกมาในวันนัดสืบต่อถึง ๙ คน จะให้สืบพยานโจทก์ด้วยก็ดูกระไรอยู่ ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๓ จะถือว่าโจทก์ไม่นำพยานสืบไม่ได้ สมมติว่าโจทก์จำเลยมาศาลในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ ไม่สำคัญ เพราะศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์จำเลยขาดนัดและนัดพิพากษาคดีแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีโอกาสนำพยานมาสืบในวันที่ ๑๗ ได้ คดีชอบที่จะให้โจทก์สืบพยานต่อไป อนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ การที่โจทก์จำเลยไม่มาศาลในวันที่ ๑๖
จะถือว่าขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ๑๙๗ ไม่ได้ เพราะการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๑๙๗ ต้องเป็นการขาดนัดในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน ไม่ใช่วันสืบพยานครั้งต่อๆ มา
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อไปจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่

Share