คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5659/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจะมิได้นำเอกสารที่จำเลยปลอมขึ้นไปยื่นแสดงต่อผู้เสียหายที่ 4 ด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้ ส. ไปดำเนินการแทนโดย ส. ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม มีผลเท่ากับจำเลยไปดำเนินการด้วยตนเอง เมื่อผู้เสียหายที่ 4 ได้รับเอกสารและดำเนินการให้ตามเอกสารนั้น ผู้เสียหายที่ 4 ย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว
ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยทำปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่ามีการทำปลอมสัญญามาตั้งแต่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ไม่มีผลถึงหรือทำให้การกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเปลี่ยนแปลงไป ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นจึงมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ เพราะให้การปฏิเสธมาตลอด จึงไม่เป็นเหตุให้พิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง
จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัด และยื่นจดทะเบียนแก้ไขถอนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมออกจากการเป็นหุ้นส่วน อันเป็นการระงับสิทธิในห้างหุ้นส่วน ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3และโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยจึงเป็นผู้เสียหายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจได้จดทะเบียนณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2534 มีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ลงหุ้นด้วยเงิน 250,000 บาท นายสัมศักดิ์ บัวขาว นางปิ่นทอง ศรพรหมชัยผู้เสียหายที่ 1 และนายเทอดชัย ศรพรหมชัย ผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วนลงหุ้นด้วยเงินคนละ 250,000 บาท กับนายพรชัย ศรพรหมชัย ผู้เสียหายที่ 3 เป็นหุ้นส่วนลงหุ้นด้วยเงิน 500,000 บาทต่อมาจำเลยทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3ออกจากหุ้นส่วนโดยถอนเงินลงหุ้นของแต่ละคน อันเป็นการระงับสิทธิของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ในห้างหุ้นส่วนจำกัด อันเป็นความเท็จและจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ในเอกสารดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1ถึงที่ 3 ผู้อื่นและประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดขอนแก่น ผู้อื่นและประชาชนเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยใช้โดยอ้างเอกสารสิทธิที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวต่อนายสมพงษ์ นพสุวรรณ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดขอนแก่น ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ ผู้อื่นและประชาชน ต่อมาจำเลยโดยทุจริตได้หลอกลวงผู้เสียหายที่ 4 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งต่อผู้เสียหายที่ 4 ว่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ โดยผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ยินยอมออกจากการเป็นหุ้นส่วน และแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือรับรองฐานะห้างหุ้นส่วนจำกัด อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและโดยการหลอกลวงของจำเลยทำให้ผู้เสียหายที่ 4 ทำ ถอน หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ โดยผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3มิได้เป็นหุ้นส่วนอีกต่อไป โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ ผู้อื่นและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 267, 268, 341 และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายเทอดชัย ศรพรหมชัย ผู้เสียหายที่ 2ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสองและจำเลยยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องข้อหาฉ้อโกง และริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ ตามสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดอ่างทอง) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนลำดับที่ (4) ถึง (6) ในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดอ่างทอง) มิใช่ลายมือชื่อของตนทั้งปรากฏว่าหลังจากฝ่ายผู้เสียหายมอบอำนาจให้ทนายความไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนได้ส่งลายมือชื่อดังกล่าวไป ให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ซึ่งพันตำรวจโทกำจร ชื่นบำรุง ผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อดังกล่าวเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.2 และ ป.จ. 4(ศาลอาญากรุงเทพใต้) ว่า คุณสมบัติของการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันจึงลงความเห็นว่า แต่ละลายมือชื่อไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2535 โจทก์ร่วมทะเลาะกับจำเลยและนายสมศักดิ์เกี่ยวกับการที่โจทก์ร่วมนำรถไปทำงานที่อื่นไม่นำเงินที่ได้รับส่งห้างหุ้นส่วน แล้วนำรถไปเก็บรักษาเอง ทำให้รถเสียหายเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนกัน โดยผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมออกจากการเป็นหุ้นส่วนแล้วให้สามีจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนแทน ได้มีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามรายการทรัพย์สินและหนี้สินเอกสารหมาย ล.3 จำเลยได้ติดต่อให้นายสุนทร นาแถมทอง ดำเนินการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนใหม่เมื่อนายสุนทรพิมพ์คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนแล้วนำมามอบให้จำเลย จำเลยมอบให้ผู้เสียหายที่ 3 นำไปให้ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อ ต่อมาประมาณ 1 สัปดาห์ได้รับเอกสารคืนจึงมอบอำนาจให้นายสุนทรนำไปจดทะเบียนต่อผู้เสียหายที่ 4 และนายสุนทรเบิกความว่า เมื่อจำเลยนำสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมมาคืน จำเลยบอกพยานว่าหุ้นสวนลงลายมือชื่อในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดอ่างทอง)ต่อหน้าจำเลย พยานจึงรับจดทะเบียนให้และเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่าพยานให้นางวันเพ็ญและนายปริญญาลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายมือชื่อของหุ้นส่วนทั้งสามโดยไม่เห็นการลงลายมือชื่อของหุ้นส่วนทั้งสาม เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่า นำคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนไปมอบให้ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโดยไม่รู้เห็นในการลงลายมือชื่อ แต่กลับยืนยันต่อนายสุนทรว่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยเช่นนี้ จึงเป็นพิรุธและมีข้อเคลือบแคลงในความสุจริตของจำเลยและข้อที่จำเลยอ้างว่าการที่ผู้เสียหายที่ 3 มิได้มอบอำนาจให้นายฉลอง สว่างเนตร ทนายความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและตามเอกสารหมาย ป.ล.3 (ศาลจังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งนายฉลองชี้แจงไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดขอนแก่น ก็ระบุแต่เพียงว่า เป็นการปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมเท่านั้น น่าเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 3 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อในเอกสารหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดอ่างทอง) ดังกล่าว ก็ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 นำสืบปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับเอกสารดังกล่าวจากจำเลยเพื่อนำไปให้ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อ ทั้งผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมต่างยืนยันว่าไม่เคยตกลงจะออกจากการเป็นหุ้นส่วนดังจำเลยอ้างและผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความในเรื่องการมอบอำนาจให้ทนายความร้องทุกข์ว่า เหตุที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเพราะทนายความแจ้งว่า ผู้เสียหายไม่จำต้องลงลายมือชื่อทุกคน เมื่อคำนึงเหตุผลที่ว่ามีเหตุจูงใจใดให้ผู้เสียหายที่ 3ต้องปลอมลายมือชื่อเพราะการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่ฝ่ายตน แต่กลับเสียประโยชน์เพราะต้องออกจากการเป็นหุ้นส่วนทั้ง ๆ ที่ตนเป็นฝ่ายลงหุ้นด้วยเงินมาแล้วจำนวนมาก ผิดกับจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์โดยสามีจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนและปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากเอกสารดังกล่าว โดยทนายจำเลยนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อโต้แย้งว่าฝ่ายผู้เสียหายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในรถขุดดินซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ดังจำเลยอ้าง และข้อที่จำเลยอ้างว่า หากจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อดังกล่าวคงไม่นำเอกสารไปแสดงต่อฝ่ายผู้เสียหายนั้น เห็นว่า การแสดงเอกสารดังกล่าว จำเลยมุ่งที่จะให้ได้รับประโยชน์ ในการขอรถขุดคืน จำเลยอาจไม่ได้ใส่ใจว่าฝ่ายผู้เสียหายจะรู้หรือไม่จึงไม่เป็นข้อหักล้างว่าจำเลยมิได้ปลอมลายมือชื่อดังที่อ้าง ฉะนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อ แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยประกอบกับมูลเหตุจูงใจและผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับจากการกระทำดังกล่าว มีน้ำหนักให้เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อผู้เสียหายที่ 4 ด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้นายสุนทรไปดำเนินการแทน โดยนายสุนทรไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม การที่นายสุนทรไปดำเนินการยื่นเอกสารดังกล่าวแทนจำเลยก็มีผลเท่ากับจำเลยไปดำเนินการด้วยตนเอง และเมื่อผู้เสียหายที่ 4 ได้รับเอกสารและดำเนินการให้ตามเอกสารนั้น ผู้เสียหายที่ 4 ย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องจำเลยปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ แสดงว่าฝ่ายผู้เสียหายเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแล้ว แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่า ลายมือชื่อฝ่ายผู้เสียหายในคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นลายมือชื่อปลอมฝ่ายผู้เสียหายจึงไม่ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนมาแต่แรก ถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง นั้นเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยทำปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้นแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่ามีการทำปลอมมาตั้งแต่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ไม่มีผลถึงหรือทำให้การกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นจึงมิใช่ข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้เพราะให้การปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิด ไม่เป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4วินิจฉัยว่าฝ่ายผู้เสียหายมิใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ชอบเพราะฝ่ายผู้เสียหายเป็นผู้ถูกปลอมลายมือชื่อย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่า จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1ที่ 3 และโจทก์ร่วมในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจเอกสารหมาย ป.จ.12 (ของศาลจังหวัดอ่างทอง) และยื่นจดทะเบียนแก้ไขถอนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมออกจากการเป็นหุ้นส่วนของหุ้นส่วนจำกัดศรพรหมชัยธุรกิจ อันเป็นการจำกัดสิทธิในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4วินิจฉัยว่าผู้เสียหายที่ 4 มิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไว้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้และพิพากษายกฟ้องนั้นเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และฉ้อโกง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ และโจทก์ก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกความผิดฐานฉ้อโกงขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225 เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและที่พิพากษายกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share