คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง
คำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ไม่ชัดแจ้งว่า บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 อย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุใดบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่จะทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกันเป็นคำโต้แย้งที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 158,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ภายใน 7 วัน ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำเงินมาวางศาลภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3
ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า บทบัญญัติมาตรา 229 ที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 ขอให้ส่งความเห็นของจำเลยที่ 3 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ตามคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัย คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าหากคู่ความมีคำโต้แย้งในเรื่องนี้อย่างไรแล้วศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทุกกรณีไป เมื่อพิจารณาคำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ที่กล่าวอ้างในคำร้องแล้วมีใจความเพียงว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 หาใช่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ไม่ ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 229 ที่ใช้บังคับแก่คดีจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จำเลยที่ 3 จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน บทบัญญัติมาตรา 229 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 คำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติมาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 อย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุใดบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่จะทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน เป็นคำโต้แย้งที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 3 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้วและคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share