แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บริษัทที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิไม่เคยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ผู้ทรงสิทธิบัตรจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 63 ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3, 36, 38, 56, 63, 65, 85 และ 88 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่นายชริน ธำรงเกียรติกุล กรรมการโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า บริษัทที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิไม่เคยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ผู้ทรงสิทธิบัตรจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 63 ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน