คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ของโจทก์ไว้ต่อโจทก์ว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ หากปฏิบัติงานด้วยความประมาทหรือเจตนาทุจริต หรือทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 ยินยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ การที่ผู้จัดการโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ทำหน้าที่เคลียริ่งไปแลกเงินที่กระทรวงการคลัง เมื่อขับรถไประหว่างทางจำเลยที่ 2 ได้แวะไปถ่ายอุจจาระเสีย แล้วยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขับรถยนต์นั้นไปตามลำพังเป็นเหตุให้ไปชนรถผู้อื่นที่จอดอยู่ข้างทางโดยประมาทและทำให้โจทก์เสียหาย ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดความระมัดระวังตามวิสัยของปกติชน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานเคลียริ่งและพนักงานขับรถยนต์ของโจทก์ตามลำดับ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันในการเข้าเป็นพนักงานธนาคารโจทก์ สาขาบางเขน ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้ต่อธนาคารโจทก์มีสารสำคัญอย่างเดียวกันว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานธนาคารโจทก์ หากได้ปฏิบัติงานด้วยความประมาทหรือเจตนาทุจริตหรือทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกง อันเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ก็ตาม จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยินยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ภายในวงเงิน 70,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2514 ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาบางเขนได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไปแลกเหรียญบาทและธนบัตรย่อยที่กระทรวงการคลัง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์ไทรอัมพ์ของโจทก์หมายเลขทะเบียน ก.ท.- ฐ 7087 ในระหว่างเดินทาง จำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทละเลยต่อหน้าที่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ของธนาคารโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีใบอนุญาตขับรถยนต์ ขับขี่รถยนต์ของโจทก์คันดังกล่าวไป ภายหลังที่จำเลยที่ 1แลกเงินเสร็จแล้ว ระหว่างเดินทางกลับ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของผู้ขับรถ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์และรถยนต์ของนายอำไพทัศนีย์เวช เสียหาย โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ทั้งสองคันแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทั้งหมดเป็นเงิน 35,347 บาทตามเอกสารท้ายฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,336 บาท 82 สตางค์ ยังเหลือเงินที่จะค้างชำระอีก 32,000บาท 18 สตางค์ โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสี่ให้ชดใช้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสี่รับผิดใช้เงิน 32,010 บาท 18 สตางค์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า วันเกิดเหตุเมื่อแลกธนบัตรและเหรียญบาทแล้วจำเลยที่ 1 จะกลับธนาคารโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ โดยทิ้งรถและกุญแจไว้จำเลยที่ 1 รออยู่ร่วมชั่วโมง เห็นว่าจะเสียหายแก่ธนาคารจึงตัดสินใจขับรถกลับธนาคาร เมื่อถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์ประจำทางแล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูง และแล่นกินทางเข้ามา จำเลยที่ 1 จึงหักหลบเข้าข้างทางและไปชนท้ายรถของนายอำไพซึ่งจอดอยู่ข้างทาง ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ มิใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินความเป็นจริง

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โจทก์ไประหว่างทางจำเลยที่ 2 ปวดท้อง จึงแวะถ่ายอุจจาระที่ห้องส้วมทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรอ กลับขับรถไปเอง และจะขับรถโดยประมาทอย่างไรนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะมิได้ประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์ไป เมื่อจำเลยที่ 2มิได้ประมาทในการขับรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 4 ก็ไม่ต้องชดใช้เงินโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ค่าซ่อมรถสูงเกินความจำเป็น

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นพนักงานเคลียริ่งของธนาคารโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ขัยรถนอกเหนือหน้าที่เพื่อประโยชน์ของโจทก์อยู่บ่อย ๆ โจทก์ทราบและไม่ทักท้วง ถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามที่โจทก์ใช้อีกหน้าที่หนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 32,010 บาท 18 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 300 บาทแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมด้วยในวงเงินค้ำประกัน20,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ด้วยภายในวงเงินค้ำประกัน 20,000 บาท และให้ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลที่ค้ำประกันไว้ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 4 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาบางเขน ให้ขับรถยนต์โจทก์พาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ ทำหน้าที่เคลียริ่งไปแลกเงินที่กระทรวงการคลัง เมื่อขับรถไประหว่างทางจำเลยที่ 2 แวะไปถ่ายอุจจาระแล้วยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์โจทก์ไปตามลำพังเป็นเหตุให้ไปชนท้ายรถยนต์ของนายอำไพ ทัศนีย์เวชที่จอดอยู่ข้างทางโดยประมาท และโจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ขาดความระมัดระวังตามวิสัยของปกติชน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหมาย จ.3 ข้อที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 200 บาทแทนโจทก์

Share