คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ยกเลิกการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขแผน ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ เมื่อผู้ร้องมิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/79 (เดิม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 และตั้งบริษัทไทยมุ้ย แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมี่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2544 โดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน ต่อมาผู้บริหารแผนยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 เวลา 9.30 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด ผู้ร้องไปถึงสถานที่ประชุมเจ้าหนี้เวลา 10.25 นาฬิกา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องและให้ดำเนินการประชุมเจ้าหนี้ต่อไป ผลการประชุมเจ้าหนี้ปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำการนับคะแนนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการลงคะแนน ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประชุมเจ้าหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนใหม่
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งยกเลิกการประชุมเจ้าหนี้ จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการที่แก้ไข
ระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้ร้อง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “การพิจารณาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่ จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการยื่นอุทธรณ์ คดีนี้ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ซึ่งกรณีของคำร้องนั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้รวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าว ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/79 (เดิม) บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ เว้นแต่ …(4) คำสั่งอื่นใดที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี เห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ…” การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ยกเลิกการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขแผน ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ เมื่อผู้ร้องมิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/79 (เดิม) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้นเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีกรณีจำต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 (เดิม) แต่อย่างใด”
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง

Share