คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43 (8) แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสาม ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 (4) (8), 78, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่เปิดไฟหน้ารถและห้ามล้อกะทันหันในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ชุมชนมีประชาชนเดินข้ามถนนไปมาและมีรถจักรยานยนต์จอดอยู่หลายคัน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับเฉี่ยวชนผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทขาดสำนึก และขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ถนนรายอื่น จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยก็หลบหนีไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร กับปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้คัดค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการมึนเมา ซึ่งปัจจุบันอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นบนท้องถนนมีสาเหตุส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากผู้ขับเมาสุรา พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จนไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 ดังนั้น แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยในสถานเบาเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม นั้น โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,000 บาท ตามลำดับ จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 เกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 157, 160 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share