คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20)ฯ มาตรา 6 บังคับใช้วันที่ 14 กันยายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังที่มีการสอบสวนจำเลยแล้ว ฉะนั้นการสอบสวนจำเลยซึ่งมีอายุ 16 ปี จึงไม่อยู่ในบังคับตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือทนายความหรือบิดามารดาหรือผู้ที่จำเลยไว้วางใจอันเป็นบุคคลที่จำเลยอ้างร่วมฟังการสอบสวน การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357 และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 43,600 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง (ที่ถูกประกอบ มาตรา 83) จำเลยอายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 43,600 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ลพบุรี น – 1426 ของนายเสริม ประจงแต่ง ผู้เสียหาย ซึ่งนายยอดรัก ประจงแต่ง นำไปจอดที่วัดพรหมรังสี ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจำนวน 5 รายการ ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ. 3 ซุกซ่อนอยู่บนเพดานห้องพักในหอพักนักศึกษาภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี และได้จับกุมนายอาคมกับจำเลยข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร
คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจเอกจรัญ เกิดคำ ผู้จับเป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา พยานได้รับแจ้งจากอาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรีว่า มีกลุ่มนักศึกษาในวิทยาลัยถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ภายในหอพัก ขอให้พยานไปตรวจ พยานกับเจ้าพนักงานตำรวจหลายนายและอาจารย์วิทยาลัยดังกล่าวไปที่หอพัก พยานเข้าไปในห้องพักซึ่งมีจำเลยและนายอาคมอยู่ในห้อง ขอตรวจค้นห้องพัก พบชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์อยู่บนเพดานห้อง พยานสอบถาม จำเลยรับว่าได้นำชิ้นส่วนดังกล่าวมาจากรถจักรยานยนต์ที่ลักมาจากวัดพรหมรังสี พยานจึงนำตัวจำเลยกับนายอาคมไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพนัสนิคมได้ตรวจสอบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีพบว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 นายยอดรักมาแจ้งความว่ารถจักรยานยนต์หายไปจากที่จอดในบริเวณวัดพรหมรังสี จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจไปพานายยอดรักมา นายยอดรักดูแล้วจำได้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ที่หายไป พยานจึงจับกุมจำเลยกับนายอาคม จำเลยกับนายอาคมให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. 1 นอกจากนี้ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกศิลป์ชัย อ่ำศรี พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความชั้นสอบสวน พยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกับผู้อื่นลักทรัพย์ในเวลากลางคืนหรือรับของโจร จำเลยและนายอาคมให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 6 พยานได้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตามเอกสารหมาย จ. 7 และ จ. 8 และได้นำตัวจำเลยและนายอาคมไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและได้ถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ. 9 ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าคืนเกิดเหตุได้ไปเที่ยวงานที่โรงเรียนวัดพรหมรังสีกับนายอาคม และพานายอาคมไปบริเวณที่นายอาคมเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปโดยจำเลยรู้เห็นอยู่ด้วย อันเป็นการเจือสมกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ. 5 แต่จำเลยต่อสู้อ้างว่าไม่ได้ร่วมกับนายอาคมลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายให้รับสารภาพนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ถามค้านสิบตำรวจเอกจรัญกับร้อยตำรวจเอกศิลป์ชัย เรื่องจำเลยถูกทำร้ายจึงเป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก เมื่อจำเลยถูกจับจำเลยก็ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนทันที และจากคำเบิกความของนายชูเกียรติ เพชรล้อม อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี ผู้ดูแลหอพักพยานจำเลยได้ความว่า พยานได้นำตัวนายอนุพงศ์ผู้รับซื้อรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไปส่งที่สถานีตำรวจ เมื่อเดินทางไปถึงพยานพบจำเลยเดินออกมาจากห้องพนักงานสอบสวนและถามว่าถูกดำเนินคดีด้วยหรือ จำเลยมีอาการเหมือนจะร้องไห้และบอกว่าถูกดำเนินคดีด้วย เห็นได้ว่าหากจำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจบังคับพาจำเลยไปนำชี้สถานที่ในห้องพักหอพักนักศึกษาประกอบคำรับสารภาพนั้น เห็นว่า เป็นสถานที่ราชการไม่น่าเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะบังคับให้แสดงประกอบคำรับสารภาพเพราะในวิทยาลัยย่อมมีทั้งอาจารย์และนักศึกษาอยู่ จึงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าค้นชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางได้ที่ห้องพักในหอพักนักศึกษาที่จำเลยกับนายอาคมอยู่ด้วยกัน และจำเลยกับอาคมไปด้วยกันในที่เกิดเหตุขณะนายอาคมลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนแล้ว จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อระแวงสงสัยว่าจำเลยร่วมกับนายอาคมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามฟ้องโจทก์
ปัญหาข้อต่อมาตามฎีกาจำเลยมีว่า การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การรับสารภาพของจำเลยเอกสารหมาย จ. 5 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบโดยชอบตามกฎหมายแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยอายุ 16 ปี ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือทนายความหรือบิดามารดาหรือผู้ที่จำเลยไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวนนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542 มาตรา 6 บังคับใช้วันที่ 14 กันยายน 2542 ดังนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงบังคับใช้ภายหลังที่มีการสอบสวนจำเลยคดีนี้แล้ว การสอบสวนจำเลยอายุ 16 ปี จึงไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ต้องมีบุคคลดังจำเลยอ้างอยู่ฟังการสอบสวน การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share