แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา เป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. เมื่อปี 2475 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นห้องเลขที่ 185 บางส่วน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร แต่กรุงเทพมหานครก็มิได้ให้ผู้ถูกเวนคืนดำเนินการรื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ในส่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกเวนคืนและส่งมอบการครอบครองที่ดินแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา จาก น. ผู้รับมรดกของ จ. โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและกรรมสิทธิ์ในตึกแถวสองชั้นรวม 11 คูหา กับตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่จำเลยทั้งสองเช่าจาก น. ด้วย การที่กรุงเทพมหานครยังมิได้ดำเนินการฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่ปลูกสร้างบนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งล้ำไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วอันเป็นถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าจาก น. ผู้ให้เช่าเดิมและได้บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 186,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 185 จนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 125,920 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 185 ถนนหลวง แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามยอด) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทได้เป็นถนนสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการเวนคืนและอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2505 โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้มีการชำระค่าเวนคืนและมีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้กรุงเทพมหานครหรือไม่นั้น เห็นว่า เดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เมื่อปี 2475 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินในบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2906 พร้อมตึกแถวสองชั้นห้องเลขที่ 185 บางส่วน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร แต่กรุงเทพมหานครก็มิได้ให้ผู้ถูกเวนคืนดำเนินการรื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ในส่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกเวนคืนและส่งมอบการครอบครองที่ดินในสว่นที่ถูกเวนคืนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5906 พร้อมตึกแถวสองชั้นรวม 12 คูหา จากหม่อมราชวงศ์นริศรา ผู้รับมรดก โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและกรรมสิทธิ์ในตึกแถวสองชั้นรวม 11 คูหา กับตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่จำเลยทั้งสองเช่าจากหม่อมราชวงศ์นริศราด้วย การที่กรุงเทพมหานครยังมิได้ดำเนินการฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนตึกแถวสองชั้นเลขที่ 185 ที่ปลูกสร้างบนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งล้ำไปอยู่ในแนวเขตของถนนแก้วอันเป็นถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากหม่อมราชวงศ์นริศราผู้ให้เช่าเดิมและได้บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้”
พิพากษายืน