คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1187/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “LACOVO”อ่านออกเสียงว่า “ลาโคโว” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า “TACOLAVO” อ่านออกเสียงว่า “ทาโคลาโว”เครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ พยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านว่า “ลา” เป็นเสียงอักษร “ล”ส่วนพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านว่า “ทา”เป็นเสียงอักษร “ท” สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีเสียงอักษร “ท” เลย แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยอ่านออกเสียงเหมือนกันอยู่ 3 พยางค์ คือลา โค และโว แต่ทั้งสามพยางค์นั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ยกเว้นเสียงโวเท่านั้นที่เป็นพยางค์สุดท้ายเช่นเดียวกัน ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยมีข้อแตกต่างกันมาก ไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนหรือคล้ายกันถึงขนาดทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า”LACOVO” อ่านว่า “ลา-โค-โว” ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกสินค้าแปรงสีฟัน จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “TACOLAVO” อ่าน “ทา-โค-ลา-โว”สำหรับสินค้าจำพวกสินค้าแปรงสีฟันเช่นเดียวกับของโจทก์ ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้าว่าเป็นแหล่งเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ได้ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเจตนาไม่สุจริต ขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย จำเลยให้การว่าเครื่องหมายการค้า “TACOLAVO” ของจำเลย ไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้า “LACOVO” ของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์หรือไม่นั้น ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “LACOVO” อ่านออกเสียงว่า “ลาโคโว” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นเป็นอักษรโรมันว่า “TACOLAVO” อ่านออกเสียงว่า “ทาโคลาโว” เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านออกเสียง 3 พยางค์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านออกเสียง 4 พยางค์ พยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านว่า “ลา” เป็นเสียงอักษร “ล” ส่วนพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านว่า “ทา” เป็นเสียงอักษร “ท”สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นไม่มีเสียงอักษร “ท” เลยจริงอยู่แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยอ่านออกเสียงเหมือนกันอยู่ 3 พยางค์ คือ ลา โค และ โว แต่ทั้งสามพยางค์ดังกล่าวนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ยกเว้นเสียง โว เท่านั้นที่เป็นพยางค์สุดท้ายเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อแตกต่างกันมาก ไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนหรือคล้ายกันถึงขนาดทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share