คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป. ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ขายที่ดินพิพาทและได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วย แล้วจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า ป. ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย จำเลยรับโอนมาโดยชอบติดต่อกันมา จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 1377, 1378 แม้ต่อมา ป. จะยื่นคำร้องต่อโจทก์ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ได้พิจารณาจัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ได้ตามขอ แต่เมื่อในขณะโจทก์จัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ป. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยไปแล้ว จึงไม่ใช่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอีกต่อไป การจัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้ ป. จึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศของโจทก์เองที่กำหนดให้ผู้ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินต้องเป็นเกษตรกรผู้ได้เข้าทำประโยชน์หรือครอบครองที่ดินนั้นอยู่ก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป และห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัยออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่โจทก์ออกให้แก่นายเปลื้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตท้องที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัยและอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ได้มีการแจ้งการครอบครองไว้ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 493 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เอกสารหมาย ล. 2 โดยมีชื่อนางพวง ยุพา มารดาของนายเปลื้อง มงคล เป็นผู้แจ้งการครอบครอง ระหว่างที่โจทก์ดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2532 นายเปลื้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยมิได้แจ้งว่าที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) โจทก์จึงได้จัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ และได้ออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก. 4-01 เลขที่ 4126 เล่ม 52 หน้า 26 อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่นายเปลื้อง ปัจจุบันนายเปลื้องถึงแก่ความตายไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 จำเลยได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 493 ของที่ดินพิพาทไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย โจทก์คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายทินกร การรักษา นายพีระ อาจหาญ นายวิชาญ วิริยะสุทธิวงศ์ และนายสุเทพ รอสูงเนิน เป็นพยานเบิกความได้ความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 เป็นที่ดินในโครงการป่านครราชสีมา – ปักธงชัย และโครงการป่านครราชสีมา – ปักธงชัย – โชคชัย โจทก์ได้ประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย จ. 4 ต่อมานายเปลื้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ได้สอบสวนแล้วเห็นว่านายเปลื้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1 ก. และเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 ข. (1) จึงจัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์และออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้นายเปลื้องไป แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมด ปรากฏว่าไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้เห็นว่านายเปลื้องได้เข้าทำประโยชน์หรือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจริงหรือไม่ แต่จำเลยมีตัวจำเลยและนายโฮม จวงตะคุ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเปลื้องเมื่อเดือนมกราคม 2532 มีการทำสัญญาซื้อขายตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล. 3 หลังจากนั้นนายเปลื้องได้มอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เอกสารหมาย ล. 2 และส่งมอบการครอบครองให้จำเลย จำเลยได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จนกระทั่งจำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดในที่ดินพิพาท นายโฮมเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่ดินตั้งอยู่จึงเป็นผู้ที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ดี ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองท้องที่ และยังเป็นผู้รู้เห็นการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายเปลื้องกับจำเลยอีกด้วย เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า พยานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า นายเปลื้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 แล้วจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่านายเปลื้องได้สละการครอบครองที่ดินพิพาท และโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย จำเลยรับโอนมาโดยชอบติดต่อกันมา จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และมาตรา 1378 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่โจทก์จัดให้นายเปลื้องได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงขัดต่อหลักเกณฑ์ตามประกาศเอกสารหมาย จ. 4 ของโจทก์ ข้อ 1 ข. (1) เพราะขณะโจทก์จัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์นั้น เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 19 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันออกประกาศเป็นเวลาภายหลังจากที่นายเปลื้องได้มอบการครอบครองให้จำเลยไปแล้ว นายเปลื้องจึงไม่ใช่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดินตามประกาศดังกล่าว การจัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้นายเปลื้องจึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการที่นายเปลื้องยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เป็นการสละสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ให้แก่โจทก์แล้ว เห็นว่า นายเปลื้องยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินจากโจทก์เมื่อเดือนกันยายน 2532 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่นายเปลื้องได้โอนการครอบครองที่ดินให้จำเลยไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 นายเปลื้องจึงไม่มีสิทธิที่จะสละสิทธิการครอบครองให้แก่โจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยนายเปลื้องสละการครอบครองให้ หาได้ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share