แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง อันเป็นการดำเนินการตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (2) แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว จึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ ดังนั้น หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่โจทก์นำมาฟ้อง จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 529,039.92 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร จากยอดเงิน 509,750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 97 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2543 จำเลยที่ 3 ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินรวม 105,700 บาท กับให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2538 และเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2538 เป็นเงินรวม 507,661 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ลดภาษีที่เรียกเก็บตามการประเมินโดยคงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 39.04 บาท เบี้ยปรับ 19.52 บาท และเงินเพิ่ม 31.04 บาท รวมเป็นเงิน 89 บาท ส่วนกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยกอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว หลังจากได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2538 และเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2538 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 176/2545 ของศาลภาษีอากรกลาง ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เนื่องจากจำเลยทั้งสามยังมิได้ชำระภาษีตามการประเมิน คดีมีปัญญาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในกรณีการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2538 และเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2538 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในการประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 176/2545 อันเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 30 (2) แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ ดังนั้น หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน