แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะฟ้องให้จำเลยล้มละลายจะต้องบรรยายคำฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 คดีนี้โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา 3 คดี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวและหนี้ดังกล่าวนั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน คำฟ้องของโจทก์จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ กำหนดไว้แล้ว ส่วนจำเลยจะเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยางไร จำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นข้อที่ต้องไปว่ากล่าวในชั้นพิจารณา
มูลหนี้ตามคำพิพากษาที่พิพากษาให้จำเลยกับพวกหลายคนร่วมกันรับผิดชำระหนี้ จำเลยแต่ละคนซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ก็ได้ เมื่อจำเลยอยู่ในฐานะลูกหนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการชำระหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,251,466.08 บาท จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์ได้ขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยหลบหนีไปเพื่อประวิงการชำระหนี้ พฤติการณ์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) ข และ (5) เห็นว่า ในการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะฟ้องให้จำเลยล้มละลายจะต้องบรรยายคำฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 เมื่อในคดีนี้โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องมาแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา 3 คดี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวและหนี้ดังกล่าวนั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน คำฟ้องของโจทก์จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดไว้แล้ว ส่วนที่ว่าจำเลยจะเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างไร จำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นข้อที่ต้องไปว่ากล่าวในชั้นพิจารณา
ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้แก่โจทก์นั้นเนื่องจากบุคคลอื่นซึ่งเป็นจำเลยร่วมตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจะชำระหนี้แทนนั้น เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขที่ 20611/2532 พิพากษาให้จำเลยหลายคนร่วมกันรับผิดชำระหนี้ จำเลยแต่ละคนซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ก็ได้ เมื่อจำเลยอยู่ในฐานะลูกหนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการชำระหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน