คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยที่กำหนดให้พนักงานหรือลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณ เป็นเพียงกำหนดคุณสมบัติของพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518หาใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ เพราะจำเลยอาจเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้หากโจทก์ขาดคุณสมบัติตามระเบียบของจำเลย การจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ทวงถามจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามระเบียบของจำเลย เงินบำนาญที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ จัดอยู่ในประเภทเงินทุนเลี้ยงชีพ ซึ่งมีหลักเกณฑ์และการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยให้การว่า ตามระเบียบของจำเลย ฉบับที่ 83 ว่าด้วยการออกจากงานกรณีสูงอายุของพนักงานธนาคารออมสิน และฉบับที่ 121 ว่าด้วยการแต่งตั้ง และการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสิน กำหนดให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โจทก์ทราบแล้ว ถึอว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคท้ายและเมื่อเลิกจ้าง จำเลยได้จ่ายเงินบำนาญตามระเบียบของจำเลย ฉบับที่ 27 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับค่าชดเชยให้โจทก์รับไปแล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก โจทก์ไม่เคยทวงถามและจำเลยไม่เคยผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า ระเบียบการของจำเลย ฉบับที่ 83 และฉบับที่ 121 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์จะต้องออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปี จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน เมื่อเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และโจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การที่จำเลยมีระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 83 ว่าด้วยการออกจากงานกรณีสูงอายุของพนักงานธนาคารออมสิน กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งเป็นปีที่ผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น เป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานจำเลย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่ว่า พนักงานของรัฐวิสาหกิจจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ หากอายุเกินก็ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ เพราะจำเลยอาจเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้หากโจทก์ขาดคุณสมบัติตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 121 ว่าด้วยการแต่งตั้งและการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 2 หรือโจทก์จะสมัครใจลาออกก่อนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็อาจทำได้ การจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงลักษณะงานว่าจำเลยได้จ้างโจทก์ให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ดังระบุในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศดังกล่าว (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 หรือไม่ จำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า เงินบำนาญที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อออกจากงานถือเป็นค่าชดเชยแล้ว เห็นว่า เงินบำนาญที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าว จัดอยู่ในประเภทเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสามของระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 27 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 3(3) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณไว้ตามข้อ 12 ของระเบียบฉบับเดียวกันว่า ผู้มีเวลาทำงานไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบ หากมีเวลาทำงานไม่ถึงยี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบห้า ดังนี้เป็นต้นซึ่งเห็นได้ว่ามีหลักเกณฑ์และการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย”
พิพากษายืน

Share