คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524-2525/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยมีคำสั่งที่ 3507/2523 กำหนดให้พนักงานจ่ายงานจ่ายตั๋ว จ่ายเบี้ยเลี้ยง ปฏิบัติงานนอกเหนือชั่วโมงทำงานปกติในช่วงเวลาตั้งแต่ 4.00-8.00 นาฬิกา และไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงอื่นใด ให้ได้รับค่าอาหารวันละ 20 บาทต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 540/2525 กำหนดเวลาการทำงานตามปกติของพนักงานจ่ายงานในเขตการเดินรถที่ 6 เป็นสองผลัดผลัดที่ 1 ทำงานระหว่าง 4.00-12.30 นาฬิกา ผลัดที่ 2 ทำงานระหว่าง 11.00-19.30 นาฬิกา ซึ่งนายจ้างมีอำนาจที่จะกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมแก่ลักษณะงานในหน้าที่ของลูกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3 และข้อ 68 อันถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ย้ายมาเป็นพนักงานจ่ายงานประจำเขตการเดินรถที่ 6 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำสั่งที่ 3507/2523 มิใช่เป็นเรื่องกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานแต่อย่างใดคำสั่งที่ 540/2525 ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับคำสั่งที่ 3507/2523 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ 540/2525 ไม่เป็นคุณแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีเวลาทำงานในช่วงเวลา 4.00-8.00 นาฬิกา แต่มิใช่เป็นการทำงานนอกเหนือชั่วโมงทำงานปกติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าอาหารตามคำสั่งที่ 3507/2523
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การให้พนักงานทำงานเป็นผลัดไม่มีหลักฐาน ว่ามีชื่อและลายมือชื่อผู้ปฏิบัติงาน จึงฟังไม่ได้นั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำอยู่เขตการเดินรถที่ ๖ ทำหน้าที่เป็นพนักงานจ่ายงาน จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓ ข้อ ๑๑ กำหนดให้พนักงานจ่ายงาน จ่ายตั๋ว จ่ายเบี้ยเลี้ยง ปฏิบัติงานนอกเหนือชั่วโมงทำงานปกติและไม่ได้เบี้ยเลี้ยงอื่นใดให้ได้รับค่าอาหารวันละ ๒๐ บาท ที่มาทำงานก่อนเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา ๔.๐๐ – ๘.๐๐ นาฬิกา โจทก์มาทำงานทุกวันตั้งแต่เวลา ๔.๐๐ นาฬิกา ก่อนเวลาทำงานปกติ จึงมีสิทธิได้รับค่าอาหารวันละ ๒๐ บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้พิพากษาให้จำเลยค่าอาหารแก่โจทก์สำนวนแรก ๓๕๐ วัน โจทก์สำนวนหลัง ๓๔๑ วัน
จำเลยให้การว่า เขตการเดินรถที่ ๖ ที่โจทก์ทำงานอยู่ได้กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานจ่ายงานไว้ว่า ผลัดที่ ๑ ให้ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา ๔.๐๐ – ๑๒.๓๐ นาฬิกามีเวลาพัก ๑ ชั่วโมง ส่วนผลัดที่ ๒ เริ่มเวลา ๑๑.๐๐ – ๑๙.๓๐ นาฬิกา เวลาทำงานของโจทก์ทั้งสองเป็นการทำงานในเวลาปกติ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าอาหาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีคำสั่งที่ ๕๔๐/๒๕๒๕ กำหนดเวลาปกติของลูกจ้างเปลี่ยนไปจากคำสั่งที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓โดยกำหนดเวลาการทำงานจากเวลาเดิม ๘.๓๐ นาฬิกา มาเป็น ๔.๐๐ นาฬิกาไปจนถึงเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าอาหารตามคำสั่งเดิมที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓ นั้น เห็นว่า คำสั่งที่ ๕๔๐/๒๕๒๕ เป็นคำสั่งที่กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานจ่ายงานในเขตการเดินรถที่ ๖ เป็นผลัด คือ ผลัดที่ ๑ทำงานตั้งแต่เวลา ๔.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ผลัดที่ ๒ ทำงานตั้งแต่เวลา ๑๑ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา ซึ่งนายจ้างมีอำนาจที่จะกำหนดเวลาทำงานดังกล่าวของลูกจ้างตามความจำเป็นและความเหมาะสมแก่ลักษณะงานในหน้าที่ของลูกจ้างนั้นได้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๓ และข้อ ๖๘ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ย้ายจากตำแหน่งธุรการมาเป็นพนักงานจ่ายงานประจำเขตการเดินรถที่ ๖ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับคำสั่งของจำเลยดังกล่าวส่วนคำสั่งที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓ เป็นระเบียบทั่วไปเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าอาหารและค่าจ้างเหมาพิเศษแก่พนักงาน ซึ่งกำหนดให้พนักงานจ่ายงานที่ปฏิบัติงานนอกเหนือชั่วโมงทำงานปกติในระหว่าง ๔.๐๐ นาฬิกา ถึง ๘.๐๐ นาฬิกา และไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงอื่นใด ให้ได้รับค่าอาหารวันละ ๒๐ บาท มิใช่เป็นเรื่องกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานแต่อย่างใด คำสั่งที่ ๕๔๐/๒๕๒๕ ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับคำสั่งที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ ๕๔๐/๒๕๒๕ ไม่เป็นคุณแก่โจทก์อย่างใดหรือไม่ โจทก์มีเวลาทำงานในช่วงเวลา ๔.๐๐ นาฬิกา ถึง ๘.๐๐นาฬิกา แต่มิใช่เป็นการทำงานนอกเหนือชั่วโมงทำงานปกติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าอาหารตามคำสั่งที่ ๓๕๐๗/๒๕๒๓
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การให้พนักงานทำงานเป็นผลัดไม่มีหลักฐานว่ามีชื่อและลายมือชื่อของผู้ปฏิบัติงาน จึงฟังไม่ได้มีการจัดให้พนักงานทำงานเป็นผลัดจริงตามข้ออ้างของจำเลยนั้น เห็นว่าเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share