คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่ายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาปล้นทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงโจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำหรับข้อหาปล้นทรัพย์ไม่ได้คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาชิงทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษากลับกันมาเท่านั้น และที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์นั้น ถือได้ว่าเป็นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาชิงทรัพย์ด้วยแล้ว เพราะการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คนที่หลบหนีร่วมกันพาอาวุธมีดคัตเตอร์และไม้ปลายแหลมไปบนรถยนต์โดยสารประจำทางและตามถนนสุขุมวิทโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำ ปากกา และเงินสดของผู้เสียหายทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 371, 91, 83 ที่ได้แก้ไขแล้ว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ส่วนที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืน ริบมีดคัตเตอร์และไม้ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 371 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่ถูกเป็นมาตรา 76) จำคุกจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์คนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรคนละ 60 บาท ริบมีดและไม้ของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตามที่โจทก์ขอ ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่มีไม้ปลายแหลมและตบหน้าผู้เสียหาย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 391 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่ถูกเป็นมาตรา 76) ปรับจำเลยที่2 ฐานพาอาวุธ 60 บาท ฐานทำร้ายร่างกาย 300 บาท ริบไม้ปลายแหลมของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 คืนมีดคัตเตอร์แก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง และริบมีดคัตเตอร์ของกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดในข้อหาปล้นทรัพย์ตามฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และคงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาปล้นทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำหรับข้อหาดังกล่าวไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษากลับกันมาเท่านั้น และตามฎีกาของโจทก์ถือได้ว่าเป็นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาชิงทรัพย์ด้วยแล้ว เพราะการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์
แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพาอาวุธและจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และเมื่อจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานชิงทรัพย์แล้วจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอีก
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสองที่แก้ไขแล้ว และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสี่และจำเลยที่2 หนึ่งในหก เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน 20 วัน และปรับจำเลยที่ 1 ฐานพาอาวุธปืน 60 บาท รวมโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี ปรับ 60 บาท และรวมโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี 6 เดือน 20 วัน ปรับ 60 บาท ริบมีดคัตเตอร์ของกลางให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ (ส่วนที่ยังขาดอยู่)แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share