แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นมีว่า จำเลยได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกับโจทก์ตามที่โจทก์นำมาฟ้องหรือเปล่า การที่จะให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นประธานแห่งประเด็น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์ที่เป็นมาทั้งก่อนและภายหลังวันที่อ้างว่าได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกันได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวแก่ประเด็นโดยตรง ฉะนั้นการที่ศาลวินิจฉัยว่าจะควรเชื่อหรือไม่เชื่อพฤติการณ์ต่าง ๆ ระหว่างโจทก์จำเลยตั้งแต่เริ่มมีข้อพิพาทอันอ้างว่าเป็นเหตุให้เกิดสัญญาปราณีประนอมยอมความและการติดต่อภายหลัง อันเป็นเหตุให้อ้างว่า สัญญาปราณีประนอมยอมความนั้นได้มีการให้สัตยาบัน จึงอยู่ในดุลยพินิจของศาลที่จะถึงทำได้ เพราะเป็นการค้นหาความจริงว่า สัญญาปราณีประนอมยอมความนั้น ได้มีขึ้นจริงหรือไม่นั่นเอง โจทก์จะจำกัดไม่ให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็น เพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็น หาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางเคลือบและจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมฤดกพระอร่าม ฯ นางเคลือบได้ทำสัญญาขายเรือขุดแร่ของกองมฤดกให้แก่โจทก์ โดยความรู้เห็นของจำเลยทั้งสอง ต่อมากองมฤดกผิดสัญญาเอาเรือขุดแร่ลำนั้นไปขายให้ผู้อื่นเสีย และนางเคลือบถึงแก่ความตายไปเสียแล้ว จำเลยทั้งสองคงเป็นผู้จัดการมฤดกต่อมา จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมฤดกด้วยตนเองและในฐานะแทนจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกับโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๘ ยอมใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่กองมฤดกผิดสัญญา และภายหลังจำเลยที่ ๒ ยังได้ยอมรับรองและให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ ๑ ทุกประการ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมฤดกผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปราณีประนอมยอมความ จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อ ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อสำคัญให้สืบ ๓ ข้อคือ
๑. จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๘ ให้โจทก์จริงหรือไม่
๒. จำเลยที่ ๒ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกับโจทก์หรือไม่
๓. จำเลยที่ ๒ ได้ยอมรับรองหรือให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสัญญาปราณีประนอมยอมความเรื่องนี้หรือไม่
เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้ตรวจเอกสารบางฉะบับที่โจทก์อ้างตามที่ส่งประเด็นไปดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลจังหวัดภูเก็ตแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าประเด็นข้อ ๒ ข้อ ๓ นั้น เป็นอันไม่ต้องสืบพะยานกันต่อไป หรือมิฉะนั้นขอให้จำเลยที่ ๒ สืบพะยานในประเด็นสองข้อนั้นก่อน จำเลยแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประเด็นข้อ ๒-๓ ไม่จำเป็นต้องสืบพะยาน จึงให้งดและคงให้สืบพะยานฉะเพาะข้อ ๑ เท่านั้น แล้วศาลแพ่งเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีทางชนะทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พิจารณายกฟ้อง มีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า โจทก์ควรชนะคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อ ๑ แต่ข้อเดียวแล้ว ศาลยกประเด็นข้อ ๒ ข้อ ๓ ขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าความจริงก็เป็นไปในเรื่องสำหรับประเด็นข้อ ๑ ที่ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความให้โจทก์จริงหรือไม่นั่นเอง แต่การที่จะให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นประธานแห่งคดีนี้ ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์ที่เป็นมาทั้งก่อนและภายหลังวันที่อ้างว่าได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกันนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง เป็นหารค้นหาความจริงว่าสัญญาปราณีประนอมยอมความนั้น ได้มีขึ้นจริงหรือไม่นั่นเอง โจทก์จะจำกัดไม่ให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นหาได้ไม่
ส่วนข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความให้แก่โจทก์
พิพากษายืน.