คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย โจทก์เป็นเพียงพนักงานสอบสวน แม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่กฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) เท่านั้น และโจทก์ก็มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 เวลาก่อนเที่ยง จำเลยได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 10 เม็ด ราคา 1,000 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อ เหตุเกิดที่ตำบลนาซำ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นทางคดีให้สั่งฟ้องจำเลย ต่อมาพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดหล่มสัก ได้แจ้งผลคดีโดยมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเพราะพยานหลักฐานไม่พอ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66
ศาลชั้นต้นตรวจสอบคำฟ้องแล้วพิพากษาว่า คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย โจทก์เป็นเพียงพนักงานสอบสวน มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานของรัฐก็จริงแต่มีอำนาจหน้าที่เพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดให้กระทำ คือ มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (6) เท่านั้น และโจทก์ก็มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share