คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังนั้นการที่ระเบียบของนายจ้างกำหนดว่าการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายแม้ไม่ร้ายแรงก็เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอันเป็นการแตกต่างไปจากที่ประกาศดังกล่าวบัญญัติจึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ การฝ่าฝืนข้อบังคับของนายจ้างซึ่งนายจ้างได้ออกใบเตือนแล้ว อันจะทำให้นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นหมายถึงข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติได้แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืนหาใช่การกระทำโดยประมาทไม่ดังนี้ เมื่อลูกจ้างประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายโดยที่นายจ้างออกใบเตือนแล้ว แม้จะไม่ร้ายแรงนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมแต่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์กลั่นแกล้งดึงสายพานของจำเลยให้ได้รับความเสียหายโดยที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความเสียหายก็พยายามที่จะแก้ไขแต่ไม่อาจแก้ไขได้ โดยมิได้จงใจแต่อย่างใด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยหักเงินโจทก์เพื่อประกันในการทำงานไว้ จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้โจทก์ ขอพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับคืนเงินประกัน พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยรับว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ แต่หาเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมไม่ เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบวินัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมาแล้วหลายครั้ง จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว โจทก์ทราบคำเตือนแล้วได้กระทำผิดซ้ำอีก โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพออันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ในการดึงสายพาน ทำให้สายพานของจำเลยเสียหาย เป็นการกระทำผิดซ้ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์ ทั้งจำเลยยังมีสิทธิที่จะริบเงินประกันไว้ด้วยสำหรับเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์อ้างไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ความเสียหายอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างยังถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่จำเลยได้ออกใบเตือนมาก่อนอันจะเป็นเหตุให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องเป็นกรณีเจตนาหรือจงใจฝ่าฝืน จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบสำหรับความเสียหายของโจทก์ ส่วนเงินประกันความเสียหาย ปรากฏว่าค่าสายพานที่เสียหายเกินกว่าเงินประกัน จำเลยจึงไม่ต้องคืน พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ; (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้างนั้น มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมเป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากฐานะในทางเศรษฐกิจของลูกจ้างเสียเปรียบนายจ้างอยู่แล้วหากให้มีการกระทำความตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชยกันได้ อาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างจำต้องยอมรับข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้าง ก่อให้เกิดความระส่ำระสายไม่สงบสุขในบ้านเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนการที่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่า ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทฯ เสียหายแม้ไม่ร้ายแรงก็เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อันเป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติจึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้

การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันจะทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) หมายถึงข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติได้แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืน ส่วนการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้นไม่มีเจตนาฝ่าฝืน แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอันสมควรที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงแตกต่างกัน เมื่อโจทก์กระทำความเสียหายครั้งแรก ศาลแรงงานกลางฟังว่าเป็นการประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่จำเลยก็ยังไม่เลิกจ้างโจทก์ เพียงแต่ออกใบเตือนเท่านั้น ส่วนการประมาทเลินเล่อคราวที่เป็นเหตุในการเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางฟังว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรงดังนี้ การที่โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แม้จะไม่ร้ายแรงจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม แต่กรณีจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(5) นั้น การประมาทเลินเล่อจะต้องเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง สำหรับกรณีนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นคราวที่เป็นเหตุเลิกจ้างไม่ร้ายแรงจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share