คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ในวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนได้เชิญบิดาและญาติพี่น้องจำเลยไปที่สถานีตำรวจ ทำให้จำเลยต้องยอมเข้ามอบตัวและให้การรับสารภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลย ก็เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของจำเลยเอง เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้จับกุมหรือดำเนินคดีแก่บิดาหรือญาติพี่น้องของจำเลย เป็นแต่เพียงการเชิญตัวไปในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายเท่านั้น เมื่อจำเลยเข้ามอบตัวความจำเป็นที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมจำเลยย่อมหมดไป จึงไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะหยิบยกเงื่อนไขการปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลยขึ้นมาเสนอเพื่อจูงใจหรือเป็นคำมั่นสัญญาให้จำเลยยอมรับสารภาพ ทั้งตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพมีรายละเอียดของการกระทำความผิดตามลำดับทุกขั้นตอน เชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุของกลาง ร่องรอยวิถีกระสุนสภาพศพและสถานที่เกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจนไม่มีข้อพิรุธคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และมาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน แต่เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานอื่นได้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง นายชม ศรีสุข ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิง กระสุนถูกบริเวณคอ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้อง ความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงนายชม ศรีสุข ผู้ตายหรือไม่ โจทก์มีนางปานใจ ชาวนา ภริยาผู้ตายเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานกรีดน้ำยางพาราต้นสุดท้ายของแถวที่ 2 เสร็จแล้วกำลังจะเดินไปกรีดต่อในแถวที่ 3 ส่วนผู้ตายกำลังกรีดน้ำยางพาราอยู่ที่ต้นสุดท้ายของแถวที่ 1 มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทางด้านซ้ายมือของพยานซึ่งผู้ตายกำลังกรีดยางพารา พยานหันไปดูเห็นผู้ตายล้มลงตะเกียงแก๊สที่ติดไว้ที่หน้าผากของผู้ตายดับ พยานเข้าใจว่าผู้ตายถูกยิงจึงปลดตะเกียงแก๊สที่ติดไว้ที่ศีรษะของพยานออกแล้วดับตะเกียงแก๊สพร้อมกับถอดเสื้อยืดสีขาวออกเพื่อมิให้คนร้ายมองเห็น จากนั้นพยานนั่งแอบอยู่ที่ใต้ต้นยางพาราห่างจากที่ผู้ตายล้มประมาณ 6 เมตร ต่อมาประมาณ 1 ถึง 2 นาที พยานเห็นคนร้ายถือไฟฉาย 1 กระบอก เดินมายืนที่ผู้ตายล้มอยู่ พยานมองเห็นหน้าคนร้ายไม่ชัดเห็นแต่รูปร่างลักษณะท่าทางเป็นเงา จำได้ว่าคล้ายกับจำเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อน คนร้ายถืออาวุธปืนยาวมาด้วย 1 กระบอก และใช้ไฟฉายส่องดูผู้ตายประมาณ 2 นาที เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จึงเดินจากไป พยานเข้าไปดูผู้ตายเห็นนอนนิ่งจึงวิ่งไปบอกเพื่อนคนงานให้มาดูผู้ตาย หลังจากนั้นเพื่อนบ้านได้พาพยานไปแจ้งความ ร้อยตำรวจเอกประชา เนียมสุภาพ พยานโจทก์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เวรป้องกันปราบปรามเบิกความว่าเมื่อพยานได้รับแจ้งเหตุแล้ว พยานกับพวกได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุและพบกับนางปานใจ พยานสอบถามนางปานใจบอกแก่พยานว่าจำเลยเป็นคนยิงผู้ตาย พยานจึงเดินทางไปที่บ้านจำเลยทันที แต่นายกระจ่าง สุขขา บิดาจำเลยแจ้งแก่พยานว่าจำเลยไม่อยู่ พยานกับพวกจึงตรวจดูบริเวณรอบบ้านพบอาวุธปืนลูกซองยาว 1 กระบอก ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้และปลอกกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ 12 อยู่ในรังเพลิง 1 ปลอก ซุกซ่อนอยู่ใต้ขอนไม้ขนุนซึ่งอยู่ระหว่างบ้านพักของจำเลยกับบ้านของนายกระจ่าง ห่างบ้านนายกระจ่างประมาณ 20 เมตร ลักษณะเพิ่งใช้ยิงมาใหม่ๆ จึงยึดเป็นของกลาง นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทจรูญ รักษาวงศ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ โดยความสมัครใจ ขณะนำชี้ที่เกิดเหตุพยานพบหมอนกระสุนปืนขนาดเบอร์ 12 จำนวน 2 แผ่น ห่างที่พบศพผู้ตายประมาณ 15 เมตร จากนั้นได้ควบคุมตัวจำเลยไปที่บ้านพักของจำเลย พบกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ 12 จำนวน 1 นัด ไฟฉาย 1 กระบอก ซึ่งจำเลยให้การว่าเป็นกระสุนปืนที่เหลือจากการเตรียมไว้ใช้ยิงผู้ตาย ส่วนไฟฉายใช้ส่องทางไปยิงผู้ตาย พยานจึงยึดเป็นของกลางโดยมีบันทึกคำให้การผู้ต้องหา และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพพร้อมภาพถ่ายมาสืบสนับสนุน ที่จำเลยฎีกาว่า คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเกิดจากการจูงใจหรือมีคำมั่นสัญญาของพันตำรวจโทจรูญ พนักงานสอบสวนที่เสนอเงื่อนไขให้จำเลยรับสารภาพแล้วจะปล่อยตัวนายกระจ่างบิดาจำเลยกับญาติพี่น้องของจำเลยที่เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวไว้ มิได้เกิดจากความสมัครใจจึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า พันตำรวจโทจรูญในฐานะพนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านปฏิเสธในข้อนี้และยืนยันว่าขณะที่จำเลยเข้ามอบตัวนั้น เจ้าพนักงานตำรวจรู้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายแล้ว พยานมิได้แจ้งข้อหาหรือดำเนินคดีแก่นายกระจ่างบิดาจำเลยและญาติพี่น้องของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ถึงแม้จะได้ความว่าในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนจะได้เชิญนายกระจ่างบิดาจำเลยและญาติพี่น้องจำเลยไปที่สถานีตำรวจด้วย ทำให้จำเลยต้องยอมเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การรับสารภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลยตามที่กล่าวอ้างมาในฎีกา ก็เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของจำเลยเองมิได้เกิดจากการจูงใจหรือมีคำมั่นสัญญาของพนักงานสอบสวนแต่ประการใด เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้จับกุมหรือดำเนินคดีแก่บิดาหรือญาติพี่น้องของจำเลยเป็นแต่เพียงการเชิญตัวไปในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายเท่านั้น เมื่อจำเลยเข้ามอบตัวความจำเป็นที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมจำเลยย่อมหมดไปจึงไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะหยิบยกเงื่อนไขการปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลยขึ้นมาเสนอเพื่อจูงในหรือเป็นคำมั่นสัญญาให้จำเลยยอมรับสารภาพ ทั้งตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพมีรายละเอียดของการกระทำความผิดตามลำดับทุกขั้นตอน เชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุของกลางร่องรอยวิถีกระสุนปืน สภาพศพและสถานที่เกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจนไม่มีข้อพิรุธ เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนอันอาจเป็นเหตุให้กลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยได้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยความสมัครใจเพราะรู้สำนึกผิดเพื่อการบรรเทาโทษตามที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และมาตรา 226 ดังนั้น แม้โจทก์จะมีนางปานใจเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว และตามคำเบิกความของนางปานใจมิได้ยืนยันให้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายตามที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่พฤติการณ์ของคนร้ายที่นางปานใจพบเห็น ประกอบวัตถุพยานและคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวชี้ชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายจริงดังฟ้อง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share