คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน แม้มิได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และวันเวลาที่จำเลยจะต้องจัดทำระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็พึงอนุมานได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการจัดทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วในระยะเวลาใกล้เคียงกับระยะเวลาที่ให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญาเสร็จสิ้น โจทก์ชำระเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยตามสัญญาตลอดมาจนถึงงวดที่ 17 จำเลยก็ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนายความสะดวกต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และนับแต่วันทำสัญญาจนถึงเวลาที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเป็นเวลานานถึง 7 ปี จำเลยก็ยังไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินแต่ละจำนวนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโครงการเมืองทองเอ็กซ์คลูซีฟกับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วรวมเป็นเงิน 1,786,229 บาท แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่จัดทำสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามโครงการให้แล้วเสร็จ และพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์โจทก์มอบหมายให้ทนายความบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าหนังสือบอกกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่คืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวน 2,717,910.96 บาท และขอให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,786,229 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,786,229 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในต้นเงิน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 ต้นเงิน 709,131 บาท นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2538 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2538 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2538 ต้นงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2538 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2539 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ต้นเงิน 61,594 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ต้นเงิน 60,594 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดการแล้วเสร็จและวันโอนกรรมสิทธิ์ไว้ โจทก์เองก็มิได้ดำเนินการอย่างใดที่จะชำระหนี้ตามสัญญา แม้จำเลยจะยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้เป็นระยะเวลาที่สั้นและกระชั้นชิดมิใช่ระยะเวลาพอสมควรตามกฎหมาย การบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย หากจะเรียกได้ก็เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้กล่าวไว้โดยละเอียดชัดเจนซึ่งดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน แม้ในสัญญาจะมิได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และวันเวลาที่จำเลยจะต้องจัดทำระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็พึงอนุมานได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการจัดทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วในระยะเวลาใกล้เคียงกับระยะเวลาที่ให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญาเสร็จสิ้น โจทก์ชำระเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยตามสัญญาตลอดมาจนถึงงวดที่ 17 จำเลยก็ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และนับแต่วันทำสัญญาจนถึงเวลาที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเป็นเวลานานถึง 7 ปี จำเลยก็ยังไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาแล้วนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้โจทก์จะกำหนดเวลาให้จำลยนานกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจำเลยก็ไม่อาจชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นได้ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวนั้นให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินแต่ละจำนวนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่โต้เถียงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มาอีกนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมายเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก”
พิพากษายกฎีกา

Share