แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นภายหลังจากจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ ข้อตกลงที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้แม้จะอยู่ในระยะเวลาที่ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราคงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นตรงต่อศาลฎีกาไม่อาจหักล้างเหตุแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นได้และไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมายเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อที่เป็นสาระแก่คดีที่ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 484,798.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 440,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 599.20 บาท ทุก 3 ปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 440,816.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี จากต้นเงิน 440,000 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2544 หลังจากนั้นให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 78340 ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ทั้งสามครั้งนับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2545 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์เป็นการปรับตามข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญามิได้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ และตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ได้มีข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับไว้แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้โดยละเอียดชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นภายหลังจากจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ ข้อตกลงที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้แม้จะอยู่ในระยะเวลาที่ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราคงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ ตรงตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2545 ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ นางสาวณัฐนี ตันธนาทิพย์ชัย กับพวกรวม 2 คน จำเลย ซึ่งมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกัน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ไม่อาจหักล้างเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นได้และไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมายเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อที่เป็นสาระแก่คดีที่ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้อหลังที่ว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยทั้งสามตกลงจะเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยทุกสามปีภายหลังวันฟ้องแก่โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ โดยยินยอมให้โจทก์จัดการทำประกันภัยทรัพย์จำนองได้เอง และเมื่อโจทก์ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนไปก่อน จำเลยทั้งสามตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยทั้งสามจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้อง เป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จึงจะถือว่าจำเลยทั้งสามละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยทั้งสามตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอในส่วนนี้ของโจทก์จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเฉพาะข้อหาที่ไม่รับวินิจฉัยเพียง 250 บาท แก่โจทก์