แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ เมื่อปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ ข้อ 1 (ก) เมื่อประมาณปี 2518 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2543 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโนนบกสาธาณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน รวมเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา โดยจำเลยเข้าไปถางทำนา ทำพืชไร่ ล้อมรั้วลวดหนาม และนำเจ้าหน้าที่เดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินดังกล่าวจนทางราชการออก น.ส.3 ก. ให้จำเลย โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 1 (ข) เมื่อประมาณปี 2540 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2543 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโนนบนสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ 13 ไร่เศษ โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครอง และมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 1 (ค) เมื่อประมาณปี 2540 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2543 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโนนบกสาธารณประโยชน์ รวมเนื้อที่ 10 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่จำเลยได้เข้ายึดถือในฟ้อง โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนรั้วลวดหนามและออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (ที่ถูก มาตรา 9 (1)), 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กระทงละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยตกลงกันเป็นเวลา 25 ชั่งโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามฟ้องข้อ 1 (ข) และ (ค) และให้จำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินตามฟ้องข้อ 1 (ข) และ (ค) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องข้อ 1 (ข) และ (ค) เป็นกรรมเดียว ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยอายุ 64 ปี การคุมความประพฤติและทำกิจกรรมบริการสังคมไม่เหมาะแก่จำเลย ให้เพิกถอนเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ที่หมู่บ้านนาเรือง ตำบลนาเรือง กิ่งอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี มีที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทประชาชนใช้ร่วมกันชื่อโนนบกสาธารณประโยชน์ ต่อมา ปี 2525 ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเนื้อที่ประมาณ 99 ไร่ 2 งาน ตามเอกสารหมาย จ.13 ส่วนจำเลยครอบครองที่ดินบ้านนาเรือง หมู่ที่ 1 ตำบลนาเรือง กิ่งอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นที่ดินที่มีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ เป็นที่ดินติดต่อกันทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และที่ดินติดต่อทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ทั้งสองแปลงหลังไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญเกี่ยวกับที่ดินสำหรับที่ดินที่จำเลยครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ ตามฟ้องข้อ 1 (ก) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1 (ข) และ (ค) หรือไม่ โจทก์มีนายจันทา ดาลาด จ่าสิบเอกเอเรบ โลหา และนายโกวิท แก้วสุข คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนบุกรุกทำลายป่าสาธารณประโยชน์เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบที่ดินโนนบกสาธารณประโยชน์ด้วยการรังวัด โดยอาศัยหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ปรากฏว่าจำเลยบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศเหนือของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยประมาณ 10 ไร่ และทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ยังมีนายสงวน วงศ์ประเทศ นายเพ็ง แก้วบัวขาว นายคำสิงห์ ภูหมื่น นายอำนวย อุดมพันธ์ นายจำลอง เคนสี ราษฎรตำบลนาเรืองและเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้บุกรุกแผ้วถางที่ดินสาธารณประโยชน์ต่อจากที่ดินที่จำเลยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีก 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และ 13 ไร่ แล้วล้อมลวดหนามไว้ ซึ่งที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวชาวบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และเก็บของป่ามาเป็นเวลานาน เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวมีทั้งเจ้าพนักงานผู้ไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคดีและมีราษฎรผู้อาศัยผู้ในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ย่อมรู้เห็นเกี่ยวกับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันได้ดี เฉพาะนายจันดาเป็นเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกิ่งอำเภอนาเยีย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในการรังวัดและกำหนดเขตที่ดิน ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานเคยมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความตามที่รู้เห็นจริง ฟังได้ว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4 แปลงหมายเลข 1 เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และแปลงหมายเลข 3 เนื่อที่ประมาณ 13 ไร่ จริง ข้อที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาเป็นเวลา 40 ปี และอ้างว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ติดกับที่ดินโนนบกสาธารณประโยชน์โดยมีร่องน้ำกั้นนั้นเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ และยังขัดกับแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยเคยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2521 ว่าที่ดินที่จำเลยได้รับมรดกมาจากบิดานั้นปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รังวัดแล้วมีเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ และเป็นที่ดินที่มีเขตติดต่อกับที่ว่างไม่มีด้านที่ติดกับร่องน้ำดังที่จำเลยอ้าง ในข้อนี้จำเลยเบิกความยอมรับว่าขณะรังวัดเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในปี 2521 จำเลยทำประโยชน์จริงประมาณ 28 ไร่ และจำเลยยังยอมรับว่าที่ดินของจำเลยอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ด้วย แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยคัดค้านแตจำเลยไม่มีหลักฐานการได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากทางราชการนอกจากนี้จำเลยยังเคยให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอเดชอุดม เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2534 ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโนนบกสาธารณประโยชน์ยินยอมออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จและยังให้ถ้อยคำด้วยว่าที่ดินของจำเลยอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโนนบกสาธารณประโยชน์ โดยมีทางสาธาณประโยชน์กั้นและขอให้ตรวจสอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยบางส่วนที่ได้ออกทับที่สาธารณประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งจำเลยยอมรับว่าจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวจริงขณะมีการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แสดงว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ชื่อโนนบกสาธารณประโยชน์อีก 2 แปลงต่อจากที่ดินที่จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เนื้อที่ 28 ไร่ จริง โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ข้อที่จำเลยฎีกาว่าการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่มีเอกสารเกี่ยวกับที่ดินและรังวัดตามคำบอกกล่าวอาจผิดพลาดได้นั้น ก็ปรากฏตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.13 ว่า เป็นการดำเนินการรังวัดโดยเจ้าพนักงานที่ดินมีการกำหนดมาตราส่วน มีระวางแผนที่และมีหมายเลขหลักเขตกำกับแต่ละด้านชัดเจน ย่อมเป็นการกำหนดรูปแผนที่โดยมีอาณาเขตที่แน่นอนตามหลักวิชาการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินของทางราชการและใช้บังคับได้ตามกฎหมายข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 1 (ข) และ (ค) มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำลยประการสุดท้ายว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่ไดรับอนุญาตย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน