คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ หาใช่บทบัญญัติที่จะตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 แต่ประการใด เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ให้โจทก์ และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 52 แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามาตรา 52 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 175/2545 และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์เต็มจำนวน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ขณะโจทก์ปฏิบัติงานตามหน้าที่ถูกรถยกที่กำลังยกโลหะเกี่ยวเครื่องจักรล้มทับหลังโจทก์ โจทก์ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบางประกอก 2 ทั้งในแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 19 ถึง 30 มีนาคม 2544 เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 53,457 บาท โจทก์และบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายต่อจำเลย จำเลยโดยพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 2 พิจารณาและแจ้งให้ทราบว่า คณะอนุกรรมการการแพทย์มีมติว่า การเจ็บป่วยของโจทก์เกิดเนื่องจากการทำงานแต่มิได้ทำให้ข้อกระดูกเชิงกรานเคลื่อน และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาล เฉพาะของการรักษาวันที่ 26, 29 และ 31 มกราคม 2544 เท่านั้น โจทก์อุทธรณ์คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติยืนตามความเห็นของคณะอนุกรรมการการแพทย์ ตามเอกสารหมาย ล.1 เงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลบางประกอก 2 จำนวน 53,456 บาท ตามใบแจ้งยอดเงินเอกสารหมาย จ.3 นั้น บริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างโจทก์เป็นผู้ทดรองจ่ายให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 นั้น บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนแล้วขอรับเงินทดแทนคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ หาใช่บทบัญญัติที่จะตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 แต่ประการใด เมื่อกรณีนี้เป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 49 และบริษัทสุนทรเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด นายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลย ตามมาตรา 48 แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 52 แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามาตรา 52 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56

Share