แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานและมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 จำเลยได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนฝ่ายขายและเก็บเงินกับโจทก์ มีหน้าที่ขายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าของโจทก์โดยเงินสดหรือให้เช่าซื้อ จัดทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อ ตอลดจนเก็บเงินสดหรือเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์ที่จำเลยได้ดำเนินการขายและนำเงินที่เก็บได้ส่งมอบแก่โจทก์โดยได้รับค่าตอบแทนตามยอดสินค้าที่ขายได้ และในระหว่างวันดังกล่าวจำเลยได้เบิกเงินทดรองจากโจทก์หลายครั้งเพื่อนำไปใช้จ่ายในระหว่างทำงานให้แก่โจทก์โดยจำเลยยอมให้โจทก์หักคืนในวันปิดบัญชีประจำเดือน แต่เมื่อถึงกำหนดหักคืนจำเลยได้อ้างความจำเป็นต้องใช้เงิน ประกอบกับโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีรายได้ไม่มากนักจึงได้หักคืนไปบางส่วนคงเหลือเงินที่โจทก์มิได้หักคืน 19,318 บาท ต่อมาประมาณวันที่ 15 มกราคม 2547 จำเลยขาดงานไม่ยอมมาทำงานกับโจทก์ โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 19,318 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (1) เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานและมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่ามีคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ศาลชั้นต้นหามีอำนาจวินิจฉัยไม่ การที่ศาลชั้นต้นเป็นผู้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่แล้วดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่