คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าจำเลยรับว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่คนงานตัดอ้อย และมีพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยได้ให้ถ้อยคำไว้เช่นนั้นจริง แต่เป็นพยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้เมทแอมเฟตามีนจะมีจำนวนถึง 100 เม็ด เมื่อไม่ปรากฏว่าคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์แล้วถึง 20 กรัม จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำความผิด
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยความตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) และที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 5 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยเบื้องต้นตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีดาบตำรวจสมยศ ปทุมมานนท์ และจ่าสิบตำรวจสุนทร เกลี้ยงประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า จากการตรวจค้นจำเลยพบว่าจำเลยกำถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในมือ ส่วนจำเลยปฏิเสธว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยแต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย คนที่เรียกตรวจค้นควักเอาถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางออกมาจากกระเป๋ากางเกง บอกว่าเป็นของจำเลย หลังจากจำเลยถูกจับกุม นางบุญเรือง ทองประสม ญาติจำเลยมาพบบอกว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจไปพบเรียกเงินค่าประกัน 50,000 บาท ค่าวิ่งเต้นคดีอีก 40,000 บาท แต่จำเลยและนางบุญเรืองไม่มีเงินให้ จำเลยอ่านหนังสือไม่ออก และลงลายมือชื่อในเอกสารตามที่เจ้าพนักงานตำรวจเอามาให้จำเลยลงลายมือชื่อ โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านข้อความให้จำเลยฟัง เห็นว่า จำเลยกับเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนต่างก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน นอกจากโจทก์จะมีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า ตรวจพบของกลางในกำมือของจำเลยแล้ว โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนระบุว่า จำเลยรับว่าของกลางเป็นของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม และพนักงานสอบสวนเป็นคนละชุดกัน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะร่วมกันปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งที่จำเลยอ้างว่าอ่านหนังสือไม่ออกนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความว่าจำเลยเรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 ไม่เชื่อว่าจะอ่านหนังสือไม่ออก และแม้ว่าจำเลยจะอ่านหนังสือไม่ออกจริงก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนข่มขู่บังคับจำเลยให้ลงลายมือชื่อแต่อย่างใด อีกทั้งหากเป็นดังจำเลยอ้างว่า จำเลยถูกจับกุมโดยไม่ได้กระทำความผิดใดแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะยอมลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้ลงลายมือชื่อ ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ถูกบังคับข่มขู่ นอกจากนี้จำเลยก็มิได้นำนางบุญเรืองมาเบิกความสนับสนุนให้เห็นว่า มีเจ้าพนักงานตำรวจไปเรียกร้องค่าวิ่งเต้นคดีจากนางบุญเรืองตามที่กล่าวอ้าง คำเบิกความของจำเลยจึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ตามที่จำเลยอ้าง พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำนวน 100 เม็ด ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยว่าตนได้กระทำความผิดซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ แม้โจทก์จะมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าจำเลยรับว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่คนงานตัดอ้อย โดยโจทก์มีพนักงานสอบสวนมาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยได้ให้ถ้อยคำไว้เช่นนั้นจริงก็ตาม แต่ก็เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งมีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้เมทแอมเฟตามีนจะมีจำนวนถึง 100 เม็ด เมื่อไม่ปรากฏว่าคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์แล้วถึง 20 กรัม จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยความตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง เดิมและที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษนั้นตามมาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) สำหรับโทษ และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share