คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90-92/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 118 ที่บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ด้วย
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่จำเลยซื้อจากโจทก์ร่วมโดยมีบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นมาแสดง ก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน
ระหว่างพิจารณา นายวีระพล ชินวัตร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี รวมทั้งสามสำนวนเป็นจำคุก 3 ปี
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 2 เดือน ปรับสำนวนละ 40,000 บาท รวมโทษทั้งสามสำนวนเป็นจำคุก 6 เดือน และปรับ 120,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาท จำนวน 3 ฉบับ ให้โจทก์ร่วม เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ร่วมนำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 3 ฉบับ โดยอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวนหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมมีความประสงค์จะขายหุ้นของบริษัทปรางภรณ์ จำกัด ในราคา 600,000 บาท จึงทำสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โดยจำเลยออกเช็คพิพาทชำระค่าหุ้นให้โจทก์ร่วม เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความโดยมีบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นมาประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้น อีกทั้งวันที่ลงสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ นั้น ก็ตรงกับงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ที่ระบุไว้ในบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจำเลยได้เบิกความยอมรับว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นและออกเช็คพิพาทจริง เพียงแต่อ้างว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกให้โจทก์ร่วมเป็นการค้ำประกันหนี้ตามสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าว เห็นว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น หามีพยานหลักฐานอื่นมาสืบแต่อย่างใดไม่ แม้แต่นายชุมพร ศุภสร ผู้ถือหุ้นของบริษัทปรางค์ภรณ์ จำกัด และจำเลยอ้างเป็นพยานยังได้เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าจำเลยจะขอยืมเงินจากโจทก์ร่วมหรือไม่ และไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยจะทำสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนกันหรือไม่ นอกจากนี้หากเป็นเรื่องที่จำเลยยอมใช้เงินให้แก่โจทก์ร่วมแทนบริษัทปรางค์ภรณ์ จำกัด และเป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันตามสัญญาซื้อขายหุ้นตามที่จำเลยอ้างจริงแล้ว จำเลยก็น่าจะให้ออกเช็คเพียงฉบับเดียวหรือให้ระบุไว้ในบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นด้วย การที่ไม่มีการบันทึกข้อความดังกล่าวไว้ในบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นเช่นนี้ทำให้น่าสงสัยอยู่ พยานหลักฐานของโจทก์ และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมามีเหตุผลน่าเชื่อ พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่จำเลยซื้อจากโจทก์ร่วม มิใช่เป็นการค้ำประกันสัญญาซื้อขายหุ้นตามที่จำเลยอ้าง จึงเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาซื้อขายหุ้นไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องต่อศาลได้ ดังนั้น การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่ไม่อาจนำมาฟ้องร้องให้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ด้วย ดังนั้น เมื่อได้ความว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่จำเลยซื้อจากโจทก์ร่วมโดยมีบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นมาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share