แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อการเลือกตั้งเกิดการทุจริตและคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 145 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 10 (7) ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและไม่แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 21 และมาตรา 22 ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียสิทธิเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา แจ้งแก่ผู้ร้องว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 17 จังหวัดนครราชสีมา ในการเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 ซึ่งผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 แล้ว เหตุที่ผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่สองในวันที่ 29 มกราคม 2544 เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้รับแจ้งให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงขอให้มีคำสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดนครราชสีมารับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องได้ยื่นหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อผู้คัดค้าน แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ตรวจสอบหลักฐานและคุณสมบัติของผู้ร้องแล้วปรากฏว่าผู้ร้องมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 และมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียสิทธิและขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพิจารณา ศาลฎีกาสอบผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ผู้ร้องแถลงว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 17 หน่วยเลือกตั้งที่ 9 อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา แต่ผู้ร้องมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งดังกล่าวและไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควรในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ทราบว่ามีการเลือกตั้งใหม่แต่บิดามารดาของผู้ร้องซึ่งมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านหลังเดียวกันกับผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งที่สองด้วย ส่วนผู้คัดค้านแถลงว่า การเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำสั่งที่ 33/2544 ลงวันที่ 23 มกราคม 2544 แล้วผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างแถลงไม่ติดใจแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันควร ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรและเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยมาตรา 21 และมาตรา 22 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำแต่ละเขตเลือกตั้ง ดังนั้น การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 และมิได้แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) ดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้ร้องจะอ้างว่า ผู้ร้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 แล้วก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งดังกล่าวเกิดการทุจริตและคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่สองในวันที่ 29 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 145 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10 (7) ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่ในวันดังกล่าวด้วยตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ซึ่งตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85/7 และมาตรา 7/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ในข้อ 4 ก็ระบุให้ย่นหรือขยายระยะเวลา รวมทั้งงดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมแก่การดำเนินการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7/2 นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้ร้องว่า บิดามารดาของผู้ร้องซึ่งมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านหลังเดียวกันกับผู้ร้องก็ได้ทราบวันเลือกตั้งดังกล่าว และได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่สองด้วยเชื่อว่าได้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ และถือว่าผู้ร้องทราบวันเลือกตั้งดังกล่าวด้วยแล้ว หากผู้ร้องไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากผู้ร้องเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร และไม่ทราบว่ามีการเลือกตั้งใหม่ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้อง ผู้ร้องก็มีหน้าที่ต้องไปแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำเขตเลือกตั้ง การที่ผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 21 และมาตรา 22 ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียสิทธิเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง